หัวข้อ
จากหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต ที่ระบุให้โครงการที่ดำเนินการจะต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ประเทศเจ้าบ้าน ดังนั้น ผู้พัฒนาโครงการ CDM จะต้องดำเนินการเพื่อขอหนังสือให้คำรับรองโครงการว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Letter of Approval: LoA) จากหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Designated National Authority: DNA) ของประเทศเจ้าบ้านที่โครงการ CDM ตั้งอยู่ เพื่อยืนยันว่าโครงการที่เสนอนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมัครใจ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย LoA เป็นเอกสารหนึ่งที่นำไปใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ CDM ที่คณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board: CDM EB)
สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): อบก. ในฐานะ DNA ของประเทศไทย ทำหน้าที่ในการพิจารณาให้คำรับรองโครงการ CDM ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria: SD-Criteria) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้คำรับรองโครงการตามกลไกการพัฒนาที่ สะอาด หลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย 4 หมวดดัชนี ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สังคม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ รายดัชนีของหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนจะขึ้นกับลักษณะโครงการ ประเภทโครงการหลัก ๆ ได้แก่ โครงการทั่วไป โครงการภาคขนส่ง โครงการภาคป่าไม้ และโครงการ PoA โดยโครงการที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดนั้น จะต้องผ่านหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ อบก.กำหนดขึ้น
หลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Criteria: SD Criteria) เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาให้คำรับรองโครงการว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด โดยหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 3 หลักเกณฑ์ตามประเภทโครงการ คือ โครงการ CDM ทั่วไป โครงการ CDM ภาคขนส่ง และโครงการ CDM ภาคป่าไม้
โครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องได้ผลคะแนนรวมทั้งหมดและคะแนนรวมของแต่ละหมวดดัชนีต้องเป็นบวก ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ทั้งนี้ หากโครงการใดมีการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือค่ามาตรฐานกำหนดไว้ หรือไม่มีมาตรการลดผลกระทบให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด ให้ถือว่าเป็นการดำเนินงานที่ขัดต่อกฎหมาย โดย อบก.จะไม่พิจารณาคำขอคำรับรองโครงการ
^ TOP ^ |
การพิจารณาให้คำรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดของประเทศไทย หรือ การพิจารณาออกหนังสือให้คำรับรองโครงการ (Letter of Approval: LoA) เป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนภายใต้ระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ คำรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด พ.ศ. 2553 โดยมีกำหนดระยะเวลาการพิจารณากลั่นกรองโครงการ ภายใน 180 วันทำการ นับแต่วันที่องค์การฯ ได้รับคำขอและเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ระเบียบกำหนดไว้
รูปแสดงขั้นตอนการพิจารณาให้คำรับรอง
ขั้นตอนการพิจารณาให้คำรับรอง
1. ผู้พัฒนาโครงการยื่นคำขอ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาให้คำรับรองโครงการตามที่ระเบียบฯ กำหนด
2. อบก. ดำเนินการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นเพื่อพิจารณาความครบถ้วนของเอกสารต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 20 วันทำการ นับจากวันที่อบก.ได้รับคำขอ
- กรณีโครงการเข้าข่ายการคืนโครงการ ตามประกาศคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าด้วยการพิจารณาให้คำรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด พ.ศ. 2551 ผู้ดำเนินโครงการจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและยื่นคำขอกลับเข้ามาใหม่ และให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอกลับมาใหม่เป็นวันที่องค์การได้รับคำขอ
- กรณีโครงการไม่เข้าข่ายการคืนโครงการแต่พบว่ายังมีข้อมูลไม่ชัดเจน ผู้พัฒนาโครงการจะต้องดำเนินการจัดส่งรายงานข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติม จำนวน 5 ชุด พร้อมกับแผ่นบันทึกไฟล์ข้อมูล (CD) จำนวน 5 แผ่น
- กรณีโครงการมีความครบถ้วนสมบูรณ์/แก้ไขให้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วให้ดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป
3. อบก. ดำเนินการจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาให้ความเห็นว่าข้อเสนอโครงการ ขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่หน่วยงานรับผิดชอบหรือไม่
4. อบก. เสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก พิจารณาให้ความเห็นก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พิจารณาให้หรือไม่ให้คำรับรองโครงการ ภายใน 180 วันทำการนับจากวันที่ได้รับคำขอ
- กรณีที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วมีข้อคิดเห็น ขอคำชี้แจง หรือ กำหนดเงื่อนไขในการดำเนินโครงการใดๆ ให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการตามข้อคิดเห็น หนังสือขอคำชี้แจง หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการกำหนด ยื่นต่อองค์การภายใน 20 วันทำการนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก อบก. หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวและผู้ยื่นไม่ยื่นหนังสือที่ไม่สามารถดำเนินการตามข้อคิดเห็น หรือไม่มีหนังสือแจ้ง หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนด ให้ อบก.เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณายกคำขอรับรองดังกล่าว
5. อบก. แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้พัฒนาโครงการทราบ และเสนอให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมออกหนังสือให้คำรับรองโครงการ (LoA)
Download:
^ TOP ^ |
เอกสารประกอบการพิจารณาให้คำรับรองโครงการ CDM
ผู้พัฒนาโครงการจะต้องยื่นเอกสารเพื่อประกอบการขออนุมัติหนังสือให้คำรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Letter of Approval : LoA) ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คำรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด พ.ศ. 2553 ดังนี้
- กรณีโครงการไม่เข้าข่ายโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) | |||
1. | เอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document : PDD) | 5 | ชุด |
2. | รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และการประเมินศักยภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน (Initial Environment Evaluation (IEE) and Self-Evaluation on Sustainable Development of CDM project in Thailand : IEE-SD Report) Download: |
5 | ชุด |
3. | แผ่นบันทึกข้อมูล (CD)เอกสาร ตาม (1) และ (2) | 10 | แผ่น |
4. | หนังสือยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล การอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร Download: |
1 | ฉบับ |
- กรณีโครงการเข้าข่ายโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)* | |||
1. | เอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document : PDD) | 5 | ชุด |
2. | รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA)* ฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
5 | ชุด |
3. | แบบประเมินศักยภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Evaluation Form : SD Evaluation Form) Download: |
5 | ชุด |
4. | แผ่นบันทึกข้อมูล (CD) เอกสาร ตาม (1) (2) และ (3) | 10 | แผ่น |
5. | หนังสือยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล การอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร Download: |
1 | ฉบับ |
หมายเหตุ : * โครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.onep.go.th/eia)
Download:
^ TOP ^ |
สืบเนื่องจาก ระเบียบคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คำรับรองว่าเป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดแบบแผนงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๑๖ กำหนดให้หน่วยงานบริหารโครงการจะต้องแจ้งการเพิ่มกิจกรรมโครงการ (CDM Programme Activities : CPA) ทุกๆ ๑ ปี หลังจากแผนงานได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) โดยหน่วยงานบริหารโครงการจะต้องจัดส่งเอกสารข้อเสนอโครงการสำหรับกิจกรรมโครงการที่เพิ่มเข้ามาในแผนงาน (CPA-DD) และรายงานผลการปฏิบัติตามกรอบแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมและศักยภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อ อบก.พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารดังกล่าวครบถ้วนสมบูรณ์ จะดำเนินการพิจารณาออกหนังสือตอบรับทราบการเพิ่มกิจกรรมโครงการ (Letter of Acknowledgement) ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาออกหนังสือ Letter of Acknowledgement เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อบก.จึงขอให้หน่วยงานบริหารโครงการจัดส่งเอกสารตามรายการและจัดทำรายงานตามแนวทางที่ อบก. กำหนด ดังนี้
^ TOP ^ |
ค่าธรรมเนียมในการวิเคราะห์ การตรวจสอบ และการติดตามผลโครงการ ดังต่อไปนี้
1. โครงการที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่เกิน 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี มีอัตราค่าธรรมเนียมโครงการละ 75,000 บาท
2. โครงการที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้มากกว่า 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี มีอัตราค่าธรรมเนียม 10 บาท ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 900,000 บาท ต่อโครงการ
ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้เป็นไปตามที่ผู้พัฒนาโครงการระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการ
ตั้งแต่ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป ผู้พัฒนาโครงการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 ของค่าธรรมเนียมสำหรับโครงการขอคำรับรองต่อ อบก.
Download:
^ TOP ^ |