Cookies Consent

เว็บไซต์ tgo.or.th มีการเก็บคุกกี้ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ โดยให้ TGO ใช้ข้อมูล เพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและรับข่าวสารอื่นๆ ของ TGO ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว

นโยบายความเป็นส่วนตัว
banner_list

สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก

 

การจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมือง

ความเป็นมา


ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญสุดตอนนี้คือ ภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว หนึ่งในต้นเหตุที่สำคัญเกิดจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของ “เมือง” ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานของโลกที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกพบว่าเป็นการใช้พลังงานภายในเขตเมือง นอกจากนี้ยังพบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น1 อันเนื่องมาจากความต้องการในการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของประชากรในเขตเมือง และการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ให้ความสำคัญต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบุอย่างชัดเจนที่จะมีการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็น “เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม2 และกระแสของ “สังคมคาร์บอนต่ำ” หรือ “เมืองคาร์บอนต่ำ” ทำให้หลายๆ เมืองเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ภายในเมือง และการพัฒนาเมืองควบคู่กับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


หมายเหตุ

1The World Resources Institute (WRI): 2012, Global Protocol for Community-Scale Greenhouse Gas Emission (GPC). Version 0.9
2http://www.nesdb.go.th/Portals/0/news/plan/p11/plan11.pdf

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ “เมือง/เทศบาล” ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในขอบเขตการปกครองและสนับสนุนให้ “เมือง/เทศบาล” มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง

2. เพื่อประเมินศักยภาพกิจกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบันของ เมือง/เทศบาลและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของ เมือง/เทศบาล

3. พัฒนาแนวทาง/แผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ พร้อมเสนอแนะแนวทางการจัดทำมาตรฐานของเมืองคาร์บอนต่ำ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผลการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลักภายในขอบเขตการปกครองของ เมือง/เทศบาล

2. กิจกรรม/เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของ เมือง/เทศบาล

3. แนวทาง/แผนปฏิบัติการในการดำเนินงานเพื่อให้ เมือง/เทศบาล มุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ

ขอบเขตการดำเนินงาน

การจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เป็นหนึ่งในวิธีการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการกิจกรรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกภายในขอบเขตของเมือง ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะถูกคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า3 (COequivalent) โดยการจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง มีขั้นตอนดังนี้

      1) การสำรวจกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก มีการใช้ทั้งวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามแบบสำรวจข้อมูลกิจกรรม (Questionnaire) การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่เทศบาล และการลงพื้นที่สำรวจจริง เพื่อให้ทราบถึงบริบทของเมืองและข้อมูลที่ได้กลับมาสอดคล้องกับความเป็นจริง

      2) รวบรวมข้อมูลและการจัดกลุ่มกิจกรรมหลักที่ส่งผลต่อการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Classification) ในเมือง และออกแบบสำรวจการเก็บรวบรวมข้อมูลของกิจกรรมที่ส่งผลต่อการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นควรเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิเป็นลำดับแรก ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลปฐมภูมิจึงเลือกใช้ข้อมูลทุติยภูมิ ทั้งนี้เพื่อความถูกต้องข้อมูลที่จะแสดงออกมา

      3) การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) โดยใช้ระเบียบวิธีคำนวณตามคู่มือการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับเทศ จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC): 2006 IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ภาค คือ 1. ภาคพลังงาน 2. ภาคกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 3. ภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ 4. ภาคการจัดการของเสีย

      4) การจัดการคุณภาพของข้อมูลที่นำมาคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นขั้นตอนการเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากข้อมูลที่มีความแม่นยำที่รวบรวมมานั้นย่อมสะท้อนถึงความถูกต้องของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ประเมินได้

      5) การคาดการณ์ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เป็นขั้นตอนเชิงเทคนิค โดยการหาตัวแปรที่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน (Driver) ในการปล่อยเพิ่มหรือลดลงจากข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อทำการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในอนาคตสำหรับในกรณีปกติที่ยังไม่ดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Business as Usual, BAU)

      6) การวิเคราะห์และประเมินเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นขั้นตอนการศึกษาข้อดี-ข้อเสียและข้อจำกัดของกิจกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับการคัดเลือกกิจกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการลดก๊าซเรือนกระจกของเมือง โดยการวิเคราะห์และประเมินเทคโนโลยีฯ มีการระบุมิติที่จะนำมาใช้ประเมินกิจกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ 3 ด้าน คือ

            (1) มิติด้านพลังงาน เป็นการเปรียบเทียบปริมาณด้านพลังงาน โดยประเมินเปรียบเทียบปริมาณการลดการใช้พลังงานแต่ละกิจกรรมหรือเปรียบเทียบปริมาณพลังงานที่ผลิตได้จากกิจกรรมในรูปแบบของค่าความร้อน เทคโนโลยีที่เหมาะสมและความมั่นคงทางนโยบายด้านพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน

            (2) มิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการเปรียบเทียบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเมินเปรียบเทียบจากปริมาณการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกิจกรรมและการลดปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง

            (3) มิติด้านเงินลงทุน เป็นการเปรียบเทียบปริมาณเงินลงทุนและระยะเวลาคืนทุนของแต่ละกิจกรรม

      หลังจากวิเคราะห์และประเมินเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้วจะเป็นการนำเสนอแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับจัดทำมาตรการในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมือง


หมายเหตุ   3หน่วยแสดงความสามารถในการทำให้โลกร้อนเมื่อเทียบในรูปปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

บทสรุป

ประโยชน์ของการจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ภายในเมือง นอกจากจะได้ทราบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลักภายในเมืองแล้ว ยังสามารถการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในอนาคตสำหรับในกรณีปกติที่ยังไม่ดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Business as Usual, BAU) และยังสามารถนำเข้ามูลดังกล่าวมากำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต และพัฒนาโครงการในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองสังคมคาร์บอนต่ำตามนโยบายของประเทศและผลักดันให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกกระจายทั่วประเทศได้

ความร่วมมือระหว่าง สถ. และ อบก.

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมมือกันในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมือง เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน และเป็นฐานข้อมูลในการทำกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน โดย สถ. และ อบก. ร่วมกันเผยแพร่ความรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวทางในการรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมือง แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สถ. - อบก. และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2. การประเมินประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA)

3. คู่มือแนวทางการประเมินประสิทธิภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment : LPA) เรื่อง รายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. การปฏิบัติตามแนวทางการจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

คู่มือการจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง

ระบบรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมือง

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2564 โดยมีเทศบาลเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 237 แห่ง และยังได้ขยายผลในการจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง (City Carbon Footprint) ขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองตลอดจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลทั้งสิ้นจำนวน 94 แห่ง ทำให้ได้แนวทางการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองอย่างต่อเนื่อง และแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่มีการพัฒนาเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองเพื่อรองรับสนับสนุนการจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง รวมถึงได้ส่งเสริมให้เมืองดำเนินการคำนวณข้อมูลก๊าซเรือนกระจกพร้อมกำหนดแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของตนเอง และเนื่องจากในประเทศไทยมีจำนวนเทศบาลมากกว่า 2,472 แห่ง เพื่อให้การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีการขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ดังนั้น อบก. จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรของประเทศ เข้าสู่ ระบบรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมือง ได้ที่ http://lowcarboncity.tgo.or.th/