เว็บไซต์ tgo.or.th มีการเก็บคุกกี้ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ โดยให้ TGO ใช้ข้อมูล เพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและรับข่าวสารอื่นๆ ของ TGO ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว
เว็บไซต์ tgo.or.th มีการเก็บคุกกี้ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ โดยให้ TGO ใช้ข้อมูล เพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและรับข่าวสารอื่นๆ ของ TGO ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว
วันที่ 11 มีนาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนเพื่อแก้วิกฤตมหันตภัยโลกร้อน” และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO ร่วมเป็นวิทยากรในงาน “Dongtan Engineer Forum 2023” ภายใต้แนวคิด Climate Change: The Next Crisis Time to Make Sustainability into Action “พลิกวิกฤตมหันตภัยโลกร้อน” ซึ่งจัดโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความตระหนักถึงมหันตภัยวิกฤตภาวะโลกร้อนของโลกและประเทศไทย มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้มีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง นิสิตเก่าและปัจจุบันจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ KU รวมทั้งผู้ที่สนใจ เข้าร่วม ณ ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลดิ์ และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live Streaming สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ในการนี้ นายวราวุธ รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อยกระดับและก้าวเข้าสู่สถานะ Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านยุทธศาสตร์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมพัฒนาแนวทางกลไกและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในประเทศให้สามารถทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยกระทรวงฯ ได้มีการผลักดันแผนการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย รวมถึงภาคการเกษตร ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงและป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในอนาคต แต่การจะทำให้สำเร็จได้ต้องมาจากทุกความร่วมมือร่วมใจกัน เพราะไม่มีอะไรที่จะไม่สามารถทำไม่ได้ หากเราร่วมแรงร่วมใจกัน ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ ดังคำที่ว่า “Together is Possible”
นายเกียรติชาย ผู้อำนวยการ TGO ได้ร่วมบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองในการเสวนาเกี่ยวกับ แนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย (Thailand’s Carbon Neutrality and Net Zero GHG Emission Pathway) เช่น เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อยร้อยละ 68 ในปี ค.ศ. 2040 ร้อยละ 74 ในปี ค.ศ. 2050 และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 69 ในปี ค.ศ. 2035 รวมทั้งเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก สาขาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 MtCO2 (ตั้งแต่ปี 2037 – 2065) ทั้งยังบรรยายเกี่ยวกับกลไกและบริการต่างๆ ของ TGO ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) หลักสูตรของสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CAA) และความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN)