ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ตามที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) มีทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งก๊าซแต่ละชนิดมีความสามารถในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนของโมเลกุลแต่ละประเภท โดยค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ในช่วงระยะเวลา 100 ปี แสดงตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโตและค่า GWP100
ที่มา: IPCC Forth Assessment Report – Climate Change 2007
(https://www.ipcc.ch/publications_and_data/ar4/wg1/en/ch2s2-10-2.html)
น้ำท่วม
แบบจำลองสภาพภูมิอากาศจากหลายๆประเทศ ชี้ว่าภายในปี 2100 เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง จะเกิดเพิ่มขึ้นหลายเท่าจากแต่ก่อน โดยมีโอกาสเกิด 3-6 ครั้ง ในช่วง 100 ปี ต่างจากสมัยก่อนที่เกิดเพียง 1 ครั้งต่อ 100 ปี เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกที่ร้อน ทำให้มีการละลายของภูเขาน้ำแข็งแถบขั้วโลกที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำ และทะเลเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชุมชนของไทยมักจะประสบกับปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเกิดในเขตชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย โดยเฉพาะแถบชายฝั่งด้านตะวันออก และทางใต้ของประเทศซึ่งตั้งอยู่ใกล้มหาสมุทร ในเขตเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร หาดใหญ่ และเชียงใหม่ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ทั้งนี้ก็เนื่องจากปริมาณน้ำมีมากกว่าที่กักเก็บ และระบบระบายน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพพอ
ผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม นำความเสียหายอย่างมหาศาลมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินขึ้น น้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ได้ทำลายสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง สิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น ทำลายพืชผลทางการเกษตร ชะล้างหน้าดินทำให้ดินเสื่อมสภาพ เกิดการปนเปื้อนของน้ำ และคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก
นอกจากนี้ปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ยังส่งผลต่อการแพร่ของโรคระบาดทั้งในมนุษย์ พืชและสัตว์ และมีการระบาดของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในการเกษตร ประชาชนต้องสูญเสียที่ทำกิน ต้องอพยพย้ายถิ่น ผลผลิตระดับท้องถิ่นและระดับประเทศลดลง มีผลให้ประชาชนเกิดวิกฤตทางอารมณ์ซึ่งมีผลต่อการก่ออาชญากรรมที่สูงขึ้น
ประเทศไทยยังมีความอ่อนไหวต่อสภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเล เพราะพื้นที่เหล่านี้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยซึ่งอาจเกิดได้ในอนาคต โดยอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปัจจัยอื่นๆ ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติโดยไม่เตรียมการป้องกันย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
ปริมาณน้ำในโลกลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 21-31 ต่อปี สืบเนื่องจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ บริเวณผิวโลกสูงขึ้น ปริมาณน้ำในโลกลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 21-31 ต่อปี สืบเนื่องจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์บริเวณผิวโลกสูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบริเวณผิวโลกนี้ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและการระเหยของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณน้ำในลำธารและน้ำใต้ดินลดลงเนื่องจากระเหยแห้งไปกับความร้อนที่สูงขึ้นหมด ทำให้ปริมาณฝนตกน้อยลงหรือทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เกิดภาวะแห้งแล้งขึ้น
ความแห้งแล้ง
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทรัพยากรน้ำจึงถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ปัญหาทรัพยากรน้ำอันดับต้นๆ ของไทยที่สำคัญคือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และสภาวะแห้งแล้ง ในประเทศไทย
ภาวะแห้งแล้งขาดน้ำ จะเกิดขึ้นในหน้าแล้งและหน้าร้อน มีสาเหตุมาจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้ง ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานนี้ก็เกิดเป็นผลต่อเนื่องมาจากสภาวะที่โลกร้อนขึ้น
สภาวะแห้งแล้งนี้มีผลกระทบต่อการทำเกษตรของไทยอย่างยิ่ง การปลูกพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีปัญหาอยู่เสมอ เช่น พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมีจำกัด ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ต่ำเนื่องจากความแปรปรวนของน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัญหาปริมาณน้ำฝนที่ไม่สม่ำเสมอก็ยังมีผลกระทบต่อการทำไร่อ้อยด้วย
ในปี 2534 ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วง พร้อมกับอากาศร้อนและแห้งแล้งตามด้วยความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงติดต่อกันยาวนานในภาคเหนือ เกิดการระบาดของโรคไหม้ของต้นข้าวระยะคอรวง (neck blast) ในข้าวพันธุ์ กข 6 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการระบาดของโรคดังกล่าว ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ล่าสุดในปี 2547 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง ฤดูฝนสิ้นสุดเร็วมาก ตั้งแต่เดือนกันยายนทำให้ข้าวขาดน้ำในการสร้างเมล็ดจึงทำให้คุณภาพของลดลง
มีความเป็นไปได้สูงที่สัตว์และพืชหลายๆ สายพันธุ์ในประเทศไทยจะลดลง และสูญพันธุ์ไป เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกระจายของแหล่งที่อยู่ เนื่องจากพืชและสัตว์จะรับสัญญาณจากภูมิอากาศในการเปลี่ยนแปลงวงจรชีวิตให้สมบูรณ์ สามารถสืบทอดขยายพันธุ์ต่อไปได้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลให้สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ รวมถึงป่าไม้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในภาวะที่โลกร้อนขึ้น มีการปรากฏการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิดในบริเวณพื้นที่ยอดเขา 2-3 แห่ง ที่ไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในเขตที่สูงขึ้น หรือปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่อุ่นขึ้นได้ ทำให้ผลผลิตจากป่าลดลง สูญเสียแหล่งพันธุกรรม ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่ายิ่งของประเทศ
ความหลากหลายทางชีวภาพ
ภูมิภาคอินโด-พม่า (Indo-Burma) ซึ่งรวมถึงประเทศไทยจัดอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง หรือพื้นที่วิกฤต (hot spot) ต่อการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพ เนื่องจากมีความหลากหลายของทรัพยากรมาก แต่ได้รับการดูแลต่ำที่สุด ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์การสูญเสียทรัพยากรชีวภาพจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อระดับน้ำในแหล่งน้ำ มีผลทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ในบริเวณที่ระดับน้ำลดต่ำ พื้นที่ชายฝั่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นแอ่งเก็บน้ำหรือทะเลสาบน้ำตื้น พืชน้ำและพืชชุ่มน้ำโดยรอบจะลดลง ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่นที่อยู่ของสัตว์น้ำ และการลดลงหรือหายไปของพืช เกิดความเสื่อมถอยด้านการผลิตชีวมวล หรือแม้แต่การสูญพันธุ์ของปลา และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ต้องพึ่งพิงลักษณะเฉพาะทางนิเวศริมฝั่งน้ำ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำใต้ดินที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ( throughflow)
อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็สามารถกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพได้เช่นกัน แม้ระดับน้ำจะคงเดิมก็ตามอุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งส่งผลกระทบให้องค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลง เป็นผลให้สัตว์ทะเลบางชนิดไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพของน้ำที่เปลี่ยนไป มีการแพร่กระจาย และขยายพันธุ์ โรคของสัตว์น้ำบางชนิดให้รุนแรงขึ้นจนทำให้สัตว์ทะเลบางชนิดมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป
ปริมาณน้ำ และอาณาเขตของแหล่งน้ำที่ลดลง ส่งผลให้ความเข้มข้นของธาตุอาหารในน้ำ เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ทำให้แหล่งน้ำกลายเป็น Eutrophication หรือแหล่งสะสมธาตุที่กระตุ้นให้สาหร่ายและวัชพืชน้ำเจริญในปริมาณมาก มีผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำชนิดอื่นๆ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง คุณภาพของแหล่งน้ำลดลง ก่อเกิดปัญหาสุขอนามัยต่อชุมชนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำนั้นๆ
บริเวณที่ฝนตกหนัก สารมลภาวะที่เป็นกรดในอากาศจะถูกชะล้างลงแหล่งน้ำมากขึ้น ความเป็นกรดนี้ก็มีส่วนทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วยเช่นกัน
การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพทำได้โดยวางแปลงถาวร (Permanent Mountain Line Transect) ตามแนวเทือกเขาผ่านความสูงจากระดับน้ำทะเลต่างๆ หรือวางแปลงถาวรแนวตามเหนือใต้ผ่านระบบนิเวศต่างๆ แล้วติดตามความหลากหลาย ประชากร การแพร่กระจาย พร้อมทั้งตรวจสภาพภูมิอากาศควบคู่กันไป โดยเน้นที่ป่าสนและป่าร้อนชื้น เพราะคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาก โดยเฉพาะป่าร้อนชื้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการใช้ที่ดินผิดวิธี และการทำลายป่า รวมทั้งมีจำนวนประชากรที่หนาแน่น
แนวโน้มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ปริมาณฝนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลงในฤดูแล้ง และจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น คลื่นความร้อนความแห้งแล้ง น้ำท่วม พายุหมุน และไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 5 (The Fifth Assessment Report: AR5) ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) มีข้อค้นพบที่ชัดเจนว่าบทบาทและกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ จำนวนประชากร กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ วิถีการดำเนินชีวิตการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เทคโนโลยี และนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิอากาศของ IPCC ในอีกกว่า 100 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556–2643) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.1–6.4 องศาเซลเซียส ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ และคลื่นความร้อนจะเกิดถี่มากขึ้นและระยะเวลายาวนานขึ้น ความรุนแรงของการเย็นลงของอุณหภูมิในฤดูหนาวเป็นครั้งคราวและต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมามีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายภูมิภาคแต่ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน และค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีระดับความเสี่ยงและความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีอุณหภูมิเฉลี่ยในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น 4.8 องศาเซลเซียส ในอีก 100 ปีข้างหน้า ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดโต่ง เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง อุทกภัย และพายุโซโคลน เนื่องจากมีพื้นที่แนวชายฝั่งยาว มีการกระจุกตัวของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามพื้นที่ชายฝั่ง และมีสภาพเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้
แนวทางการดำเนินมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องใช้เทคโนโลยี กลไกเศรษฐศาสตร์ สังคม และสถาบัน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงกลไกต่างๆ และการดำเนินการรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกจากเวทีการเจรจาระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference : UNFCCC) โดยผลการเจรจากำหนดข้อตกลงที่สำคัญจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties 21 : COP21) ได้มีการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีผู้แทน 195 ประเทศ ให้ความเห็นชอบและร่วมในพิธีลงนามความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความร่วมมือระยะยาวของประชาคมโลก ในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการในการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้อยู่ในระดับปลอดภัย จึงมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มต้นด้วยพิธีสารเกียวโต ในการกำหนดให้รัฐภาคีที่อยู่ในภาคผนวกที่ 1 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551–2555) ขั้นต่ำ ร้อยละ 5 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 สำหรับประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมมือในการดำเนินการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศและสามารถขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้หรือคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วนำไปใช้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้มีการกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556–2563) อย่างน้อยร้อยละ 18 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 ซึ่งการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2559. รายงานสรุปการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย)
ที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 โดยเป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ฉบับล่าสุด ต่อจากพิธีสารเกียวโตและข้อแก้ไขโดฮา เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพยายามในการขจัดความยากจน รวมถึงโดย |
![]() |
ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงปารีสจากเว็บไซต์ UNFCCC: http://unfccc.int/paris_agreement/items/9485.php
คำแปลความตกลงปารีส (อย่างไม่เป็นทางการ): http://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2016/04/Paris-Agreement-Final.pdf
ประเทศไทยมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นจากกิจกรรมการพัฒนาประเทศจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2554 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และจากการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยมีสูงถึง 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2573 โดยภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน รองลงมาคือ ภาคเกษตร กระบวนการทางอุตสาหกรรม และของเสีย (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2559)
ประกอบกับการจัดลำดับขององค์กร Germanwatch ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศ 1 ใน 10 ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว และการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559–2578) ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมากกว่า 35 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น และจำนวนวันฝนตกในช่วงฤดูฝนและการกระจายตัวของฝนเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ และมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งและอุทกภัยในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อการจัดการน้ำของประเทศในภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคเกษตร และภาคเมือง
ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นประเทศที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการตามมาตรการระหว่างประเทศที่มุ่งสู่การเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการบูรณาการกับแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว การเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล องค์ความรู้และความตระหนักรู้ของประชาชน
การดำเนินการตามข้อตกลงจากการประชุมในเวทีสหประชาชาติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบันกำลังดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความเหมาะสมของประเทศกำลังพัฒนา (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMA) ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 7-20 จากระดับการปล่อยกรณีปกติ(Business As Usual: BAU) ซึ่งเป็นการดำเนินงานด้วยความสมัครใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ใน ปี 2563 ที่เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการโดยภาครัฐตามศักยภาพของมาตรการจากนโยบายและแผน รวมทั้งการพัฒนาระบบ การตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (Measurable, Reportable, Verifiable : MRV) ในแต่ละภาคการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการมีส่วนร่วม (NDC) ซึ่งดำเนินการตามความตกลงปารีสในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลัง พ.ศ. 2563 ที่มีความสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน และต่อยอดการดำเนินงานในกรอบ NAMA และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในปี 2573 โดยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20–25 จากกรณีปกติ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยภาครัฐ อาศัยการดำเนินการที่มีการส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตามศักยภาพของมาตรการจากนโยบายและแผน และภาครัฐโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายหลังปี 2563 ในสาขาที่มีความพร้อม ได้แก่ ภาคพลังงานและขนส่ง มี 9 มาตรการ จากการผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานในครัวเรือน อาคาร อุตสาหกรรมการผลิต และการคมนาคมขนส่ง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ภาคของเสีย มี 4 มาตรการ ครอบคลุมการจัดการขยะ น้ำเสียอุตสาหกรรมและชุมชน และกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มี 2 มาตรการ โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสารทำความเย็น ซึ่งจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 115.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 20.8 จากกรณีปกติ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2559)
ตามที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) จะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2015 องค์การสหประชาชาติ จึงได้จัดการประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลสำหรับการจัดทำวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2015 (Inter-governmental Negotiations on Post-2015 Development Agenda: IGN Post 2015) เพื่อหารือ กำหนดวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015 ตามกระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีประเด็นสำคัญของวาระฯ คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินงานของประชาคมโลก เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปปฏิบัติ | ![]() |
การประชุม IGN Post 2015 ได้ผลลัพธ์การเจรจาเป็น ร่างเอกสาร “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development” ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมสหประชาชาติ สมัยที่ 70 ในวันที่ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยมีท่านนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม
เอกสาร “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development” ประกอบด้วยอารัมภบท ปฏิญญา เป้าหมาย SDGs จำนวน 17 ข้อ (โดยมีเป้าประสงค์รวม 169 ข้อ) กลไกการดำเนินงานและหุ้นส่วนระดับโลก และ การทบทวนและติดตามผล
ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายที่ 13 ระบุถึงโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
เป้าหมายที่ 13: ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบ* |
13.1 ให้ทุกประเทศเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
13.2 ให้มีการบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานของชาติ |
13.3 ให้มีการปรับปรุงการศึกษา การสร้างความตระหนัก การเสริมสร้างสมรรถภาพของบุคคล และองค์กรในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า |
13.a ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ดำเนินงานตามพันธกรณี สู่เป้าหมายการร่วมสนับสนุนด้านการเงินในกองทุน Green Climate Fund (GCF) 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2020 จากแหล่งทุนทุกรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ในบริบทของการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยให้กองทุน GCF พร้อมเริ่มดำเนินงานได้ ผ่านการโอนเงินทุนเข้ากองทุน โดยเร็วที่สุด |
13.b ส่งเสริมกลไกสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อให้เกิดการวางแผนและการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การมุ่งเน้นที่ผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่น และชุมชนชายขอบ |
*โดยตระหนักว่า กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นการประชุมระหว่างประเทศหลักสำหรับการเจรจาท่าทีระดับโลกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |