banner_list

ข่าวสาร อบก.

 

  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]

TGO ร่วมกับภาคี เตรียมความพร้อมธุรกิจไทย รับมือมาตรการ CBAM ของ EU

05 ก.ย. 66

             วันที่ 5 กันยายน 2566 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (DTN) และสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “รับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการ CBAM” เพื่อรวบรวมคำถาม ข้อเสนอแนะ และข้อกังวลจากภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) และส่งต่อให้กับทาง EU Commission เพื่อให้ข้อมูลและตอบในประเด็นเหล่านั้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับการออกประกาศใช้มาตรการ CBAM กับสินค้านำเข้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 ธันวาคม 2568 จะต้องแจ้งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า แต่ยังไม่จำเป็นต้องผ่านการทวนสอบ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

             ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี DTN เป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้มี ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ TGO นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ TGO และผู้สนใจจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมการสัมมนาฯ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live Streaming องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก – องค์การมหาชน

              นอกจากนี้การสัมมนายังมีการบรรยายเกี่ยวกับ สถานการณ์ของมาตรการ CBAM แนวทางการรายงานค่า Embedded Emissions กระบวนการทวนสอบ (Verification) และการรับรองระบบงาน (Accreditation) โดย นักวิชาการจาก TGO, DTN และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “บทบาทของ EU ต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้ CBAM” และสรุปประเด็นของประเทศไทย สำหรับใช้เจรจาหารือกับ EU Commission โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้

  1. การประกาศค่า CFP, CBAM ของสินค้าเป้าหมาย แยกตาม CN code จะได้เตรียมพร้อมในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีค่า CFP ที่ต่ำกว่า
  2. แนวทางการใช้ REC, RE โดยตรงในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  3. การเจรจาให้ทาง EU ยอมรับ Accredited GHG VVB ของประเทศไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทวนสอบ
  4. การเจรจาให้มี Free Allocation เพิ่มเติม หรือ ขอเวลาอีก 1-2 ปี จึงค่อยเริ่มดำเนินการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมไทย
  5. การเจรจาให้ทาง EU ช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ให้กองทุน หรือ ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค

               สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/mVeih_t7mH/?mibextid=9R9pXO