วันที่ 6 กันยายน 2566 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU) จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จ “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการฯ และขยายผลการพัฒนาต้นแบบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในเขต EEC (CE-EEC Model) ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทั้งยังลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนในภาคการผลิต ลดของเสีย และลดการใช้ทรัพยากร รวมทั้งขยายผลการสำรวจข้อมูลเทคโนโลยี และส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในเขต EEC มีการประเมินความพร้อมในการเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO กล่าวเปิดงานและมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 8 องค์กร ในพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ณ โรงแรมอมารี พัทยา จังหวัดชลบุรี และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live Streaming องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก – องค์การมหาชน
จากการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบจำนวน 8 องค์กร ได้แก่ 1. บริษัท ชิน-เอทซุ ซิลิโคนส์ (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด 3. บริษัท ทั้งฮั่วซิน จำกัด 4. บริษัท ไททัน เมทัล จำกัด 5. บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด 7. บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และ 8. บริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้ได้รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งสิ้น 3 รูปแบบ ได้แก่ การออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) การใช้วัสดุหมุนเวียน (Circular Supplies) และการนำทรัพยากรกลับมาผลิตใหม่ (Resource Recovery) ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้ สามารถประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในโรงงานต้นแบบทั้ง 8 แห่ง ได้ 505,422 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจข้อมูลเทคโนโลยีของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จำนวน 50 แห่ง โดยแบ่งเป็น 5 ประเภทเทคโนโลยี ได้แก่ ระบบส่องสว่าง เครื่องทำน้ำเย็น เครื่องปรับอากาศ มอเตอร์ หม้อน้ำ เตาเผาและเตาอบ โดยการประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการลดการใช้พลังงาน เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวในระบบไฟฟ้าส่องสว่าง การกำจัดตะกรันในระบบน้ำหล่อเย็นและในตัวเครื่องทำความเย็น รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น หากโรงงานอุตสาหกรรมมีการดำเนินตามมาตรการดังกล่าว จะทำให้มีศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 26,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ภายในงานยังมีการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โดย นายจักรพงษ์ แย้มยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเมืองและสังคมคาร์บอนต่ำ TGO รวมทั้งมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในประเด็น “แนวโน้มและทิศทางการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยนักวิชาการจาก CMU ร่วมกับผู้แทนจากโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบ
สามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ทาง https://fb.watch/mWiBIxBLfU/?mibextid=HSR2mg