banner_list

สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก

 

  • 814

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

10 พ.ย. 58

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจนับ 10 เท่าของตังเลขที่เคยประมาณการไว้ การศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัย Stanford และ Berkeley สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของโลกลดลงร้อยละ 23 ภายในสิ้นศตวรรษนี้

“มันเหมือนกับการที่เราโยนเงินทิ้งไปเพราะเราละเลยปัญหานี้ เรามองว่างานวิจัยชิ้นนี้คือการสื่อสารให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง” Marshall Burke มหาวิทยาลัย Stanford กล่าว

งานวิจัยได้รวบรวมข้อมูล 166 ประเทศจากปี ค.ศ.1960 ถึง 2010 โดยมีการระบุว่าระดับอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมกับระดับผลิตภาพสูงสุด เช่น ระดับผลิตภาพจากการเกษตรและภาคแรงงาน อยู่ที่ 13 องศาเซลเซียส งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature

ประเทศในเขตเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีระดับอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่แล้วในปัจจุบันมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นการถ่างช่องว่างของความไม่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้นเนื่องจากประเทศในบริเวณเส้นศูนย์สูตรส่วนใหญ่คือประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศที่มีระดับอุณหภูมิใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเช่นสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น จะเผชิญความเสี่ยงในการสูญเสียที่สูงขึ้น และมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ประเทศในตอนเหนือซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมอาจได้รับผลประโยชน์เนื่องจากโอกาสใหม่ๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แต่ผลวิจัยในส่วนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดมากนัก และต่อให้อุณหภูมิที่เพิ่งขึ้นจะส่งผลดีต่อประเทศในแถบสแกนดิเนเวียหรือแคนาดา สุดท้ายแล้วประเทศเหล่านั้นก็อาจแทบไม่เหลือคู่ค้ามากนัก

อย่างไรก็ดีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจนั้นยังไม่มีการคำนึงถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ภาวะสภาพอากาศแบบสุดขั้ว (extreme weather)รวมถึงอีกหลายความเสี่ยงที่มาพร้อมกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้อาจประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ำกว่าความเป็นจริง

งานวิจัยชิ้นนี้ไปไกลกว่าข้อสรุปเดิมที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ บริษัทยักษ์ใหญ่ก็เริ่มที่จะตื่นตัวกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น รายงานของกลุ่มบริษัท Citigroup ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาอธิบายว่า การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสจะจำกัดการลดลงของจีดีพีได้ราว 50 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หากเทียบกับการปล่อยให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 4.5 องศาเซลเซียส

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการประชุมระดับโลกโดยองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส Thomas Sterner อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Gothenburg ผู้เขียนบทบรรณาธิการให้กับงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า เขาหวังที่จะให้ผลสรุปใหม่ที่อ้างอิงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะกระตุ้นให้ผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนาสามารถรับข้อตกลงหรือมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรียบเรียงจาก‘Climate Change Could Wreck the Global Economy’ โดย Justin Worland


ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ: http://www.seub.or.th/