facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list

บทความ

 

21 ตุลาคม ร่วมรักษ์โลก ลดก๊าซเรือนกระจกใน "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ"

21 ต.ค. 67



               สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า" ทรงมีพระปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ โดยทรงปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ด้วยพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพ และทรงให้ความสำคัญในการบำรุงรักษามากกว่าการปลูก ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงงานพัฒนาชนบทของประเทศไทยโดยเฉพาะการฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อ 26 มิถุนายน 2533 กำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ” ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดมความเห็นเพื่อกำหนดชื่อที่เหมาะสมและเปลี่ยนชื่อเป็น “วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ” ซึ่งเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อ 15 ตุลาคม 2533 เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามโครงการและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการปลูกซ่อมต้นที่ตายให้สามารถเจริญเติบโตขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยเร็ว

              ทั้งนี้ความสำคัญของ "ต้นไม้" ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรค ฯลฯ ยังสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และนำไปกักเก็บในรูปของเนื้อไม้ไว้ตามส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ใบ หรือแม้กระทั่งราก ดังนั้นการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ตัวอย่างเช่น หากปลูกต้นสัก 1 ไร่ ในสภาวะดินที่เหมาะสม จะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.16 tCO2eq/ปี หรือหากปลูกต้นยางนา 1 ไร่ จะกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 0.95 tCO2eq/ปี (ข้อมูล: หนังสือปลูกต้นไม้ช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงนะ, TGO)

               อีกทางหนึ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ แถมแสดงความรักษ์โลกด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกได้ และได้รับใบประกาศเกียรติคุณหรือคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกต่างๆ ที่ TGO พัฒนาขึ้นได้ เช่น

                โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) ประเภทการปลูกป่า/ต้นไม้ โดยใช้วิธีการคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ (LESS-FOR-01) ซึ่งลักษณะของกิจกรรมที่เข้าข่ายนั้น ต้องเป็นการปลูก ดูแล และการจัดการอย่างถูกวิธี ซึ่งไม้ยืนต้นที่ขอการรับรองต้องมีความสูงมากกว่า 1.3 เมตร และเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตรขึ้นไป สามารถเป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็วตามประกาศของ TGO ได้ไม่เกินร้อยละ 50 และต้องเป็นการปลูกเพื่ออนุรักษ์โดยไม่มีการตัดขาย พื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมต้องมีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย หรือหนังสือยินยอมให้ดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ในพื้นที่จากเจ้าของที่ดิน โดยบุคคล/องค์กรที่ได้การรับรองการประเมินการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Carbon stock) จากโครงการ LESS จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ แต่จะไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ได้ เพราะไม่ใช่กลไกคาร์บอนเครดิต

                 โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในภาคป่าไม้ ทั้งในรูปแบบ Standard T-VER และ Premium T-VER ซึ่งสามารถนำปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ไปซื้อขายได้ ผ่านการดำเนินโครงการโดยใช้ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ

                 สำหรับ Standard T-VER ตัวอย่างเช่น ระเบียบวิธีการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ และต้องเป็นการปลูก ดูแล หรือการจัดการอย่างถูกวิธี ปลูกไม้ยืนต้นที่มีเนื้อไม้และมีอายุยืนนานหลายปี มีพื้นที่โครงการไม่น้อยกว่า 10 ไร่ และมีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย รวมทั้งสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ไม่เกิน 16,000 tCO2eq/ปี

                ในส่วนของมาตรฐานขั้นสูง หรือ Premium T-VER ตัวอย่างเช่น ระเบียบวิธีกิจกรรมการปลูกป่า (ยกเว้นพื้นที่ชุ่มน้ำ) ซึ่งเป็นกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือดินและมวลชีวภาพใต้ดิน รวมทั้งไม้ตาย ซากพืช และคาร์บอนในดิน (ทางเลือก) จากการปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่า (Afforestation) และพื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อน (Reforestation) มุ่งส่งเสริมการปลูกและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม และไม่สามารถจะฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง โดยต้องเป็นการปลูกป่า ดูแลและการจัดการป่าปลูกอย่างถูกวิธี เป็นการปลูกไม้ยืนต้น พื้นที่โครงการมีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายกำหนด และพื้นที่กรณีฐานก่อนเริ่มโครงการต้องไม่ใช่ป่า (การปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้ที่มีความสูงเมื่อโตเต็มที่ไม่น้อยกว่า 3 เมตร เฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่)

                มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาระบบนิเวศโดยการเริ่ม “ปลูกต้นไม้คนละต้น” หรือหากที่บ้านมีต้นไม้อยู่แล้วก็หมั่นดูแล บำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะในอนาคต...เราจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงแค่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับโลกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับพวกเราทุกคนด้วย

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

โครงการ LESS ---> https://ghgreduction.tgo.or.th/th/less.html

โครงการ Standard T-VER ---> https://ghgreduction.tgo.or.th/th/t-ver.html

โครงการ Premium T-VER ---> https://ghgreduction.tgo.or.th/th/premium-t-ver.html

 

ที่มา/แหล่งข้อมูล

  • https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/224294