กรมวิชาการเกษตรลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ "การกำหนดแนวทางการประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาแนวทางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ" กับ อบก. เพื่อบรรลุเป้าหมาย NDCs
กรุงเทพฯ : เมื่อวันที่ ๙ มีนาคมที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร โดย ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดย นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในการพัฒนาโครงสร้างและแนวทางการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contributions : NDCs) ภายในปี พ.ศ.๒๕๗๓ และเพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้งสองฝ่ายให้มีความพร้อมสำหรับการดำเนินงานภายใต้การแสดงเจตจำนงด้านการแลกเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในการนี้ได้รับเกียรติจากนายประลอง ดำรงค์ไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายดิเรก ตนพยอม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ณ ห้องลีลาวดี โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภาวะโลกร้อนในสังคมปัจจุบัน ทิศทางการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย” โดย ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก “ทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านพืชเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ และในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ยังมีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ หัวข้อ “เจตจำนงและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย” โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พินิช ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “แนวทางการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยนายรองเพชร บุญช่วยดี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและสนับสนุนวิชาการ อบก. “ทิศทางงานวิจัยภาคการเกษตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.สมชาย บุญประดับ และในช่วงท้ายยังได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
ทั้งนี้ การพัฒนาความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการ และสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ประเทศว่าด้วยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๕๗๓ ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๑ และเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ ประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสารต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา