รู้หรือไม่? ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน ทั้งหมด 257,340.89 GgCO2eq โดยเกิดจากการขนส่ง ร้อยละ 29.16 คิดเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 75,029.65 GgCO2eq (ที่มาข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย จากรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4) อีกทั้ง กิจกรรมหนึ่งขององค์กรที่ ก่อให้เกิดมลพิษและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่น้อยเลย นั่นคือ การเดินทางด้วยรถยนต์ โดยรถยนต์หนึ่งคันปล่อย CO2 มากถึง 100 - 200 กรัมต่อกิโลเมตร ในหนึ่งเดือนเราใช้รถยนต์มากกว่า 3,000 กิโลเมตร ในปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมามีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคัน ดังนั้น ใน 1 ปี จะมีการเพิ่มปริมาณ CO2 ในอากาศมากมายเพียงใด ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากเท่าไร
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีนโยบายและการดำเนินงานในการควบคุม/ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากกระบวนการต่างๆ ในภาคพลังงานและการขนส่ง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน มีการจัดทำแผนพลังงานชาติ เพื่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้พลังงาน และสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในการเดินทาง
ในส่วนตัวอย่างของภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ทีซี คาร์ โซลูชั่นส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งมีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2040 โดยได้ริเริ่มบริการ “รถเช่าพร้อมด้วยคาร์บอนเครดิต” เป็นบริการชดเชยคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิต TVERs จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งให้การรับรองโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งบริการนี้จะสามารถชดเชย CO2 ที่ปล่อยมาจากการใช้รถยนต์ที่องค์กรเช่าได้ นอกจากนี้ยังให้บริการเช่ารถไฟฟ้า (EV Leasing) สำหรับลูกค้าองค์กร เพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ ให้ทุกองค์กรบรรลุจุดมุ่งหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน