การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน ไม่ได้จบลงด้วยการได้ข้อตกลงปารีส ซึ่ง 195 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมลงนามรับรองกันเมื่อครั้ง การประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ คอป 21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เรายังต้องติดตามการเจรจาและการดำเนินการของแต่ละประเทศในอีกหลายเดือนหรือหลายปีข้างหน้าต่อไป ที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ข้อตกลงปารีสมีความหมาย มีความเข้มข้น และมีความเป็นธรรมเพียงใด ในการนำพาโลกเราไปสู่การบรรลุการเพิ่มระดับอุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือแม้กระทั่ง 1.5 องศาฯ
ข้อตกลงปารีส นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์สำหรับมวลมนุษยชาติทีเดียว นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจน ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทั้ง 195 ประเทศ จะเดินหน้าการพัฒนาและการเติบโตของประเทศไปในทิศทางที่ห่างไกลจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างเศรษฐกิจและอนาคตสีเขียว พร้อมกับการสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกันและมีความเข้มแข็งในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากข้อตกลงปารีส โลกมีเป้าหมายร่วมกันในการจำกัดอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาฯ โดยมุ่งความพยายามที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาฯ การอ้างอิงกับ 1.5 องศาฯ นี้ ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ของโลกทีเดียว ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นความเร่งด่วนของประเทศยากจนและประเทศที่มีความเปราะบางอย่างมากต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการรับรองเป้าหมายอุณหภูมิที่มีความเข้มข้นนี้ และมีการเสนอให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC จัดทำรายงานฉบับพิเศษว่าด้วยผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาฯ
ปารีสตระหนักดีว่าความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม INDCs (การกำหนดเป้าหมายสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น)นั้น ไม่เพียงพอ จึงได้กำหนดให้ประเทศต่างๆ มีการสื่อสารและรายงานการดำเนินการตาม INDCs ในปี 2020 และทุกๆ 5 ปีหลังจากนั้น เพื่อปรับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซฯ ให้เข้มข้นขึ้น จาก INDCs เราเห็นถึงความพยายามและความสมัครใจของประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซฯ แต่เราไม่เห็นความเป็นภาคบังคับของประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซฯ อย่างเข้มข้น จากข้อตกลงปารีส ทุกประเทศจะมาร่วมกันทบทวนและปรับเป้าหมายให้เข้มข้นขึ้นทุกๆ 5 ปี ความแตกต่างในความพยายามระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนากำลังไม่ชัดเจน ความรับผิดชอบและการเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซญ ของประเทศพัฒนาแล้วกำลังเลือนหายไป
เป้าหมายระยะยาวในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำหนดอุณหภูมิโลกไว้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาฯ นี้ กำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมสกปรก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฟอสซิล นี่เป็นสัญญาณที่สำคัญและชัดเจนอย่างยิ่งต่อธุรกิจและกลุ่มผู้ลงทุน ถึงทิศทางที่จะเดินหน้าเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งมีเพียงทิศทางเดียวเท่านั้น นั่นคือ การเลิกพึ่งพาฟอสซิล โลกเรากำลังเดินหน้าสู่ทิศทางการเริ่มต้นแห่งยุคอวสานของอุตสาหกรรมฟอสซิลแล้ว
และนับเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกัน ที่ข้อตกลงปารีสได้ตระหนักถึงความต้องการและความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับผลกระทบจากโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นในขณะนี้ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายอย่างมากแล้วต่อประเทศยากจนและประเทศที่เปราะบางที่สุด อีกทั้งยังได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนของความจำเป็นและความต้องการอย่างเร่งด่วนในการปรับตัวกับอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นแต่ละองศา
หากความพยายามในการลดการปล่อยและการดำเนินการเพื่อการปรับตัวประสบความล้มเหลว จะก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายขึ้น ชุมชนจะประสบกับการสูญเสียทรัพย์สิน ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ สูญเสียแผ่นดินอย่างถาวร วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตหายไป และแม้กระทั่งสูญเสียชีวิต ปารีสได้บรรจุเรื่องการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ไว้เป็นหนึ่งมาตราแยกออกจากเรื่องการปรับตัว ข้อตกลงปารีสได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสามารถในการจัดการความเสี่ยงและการสร้างภูมิคุ้มกัน (ก่อนที่ความสูญเสียและความเสียหายจะเกิดขึ้น) พร้อมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการการย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่มีการพูดถึงการชดเชย (เมื่อเกิดความสูญเสียและเสียหายขึ้น) และความรับผิดชอบทางกฎหมายและอย่างเป็นธรรมของประเทศที่ปล่อยสูง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความสูญเสียและความเสียหาย การบรรจุเรื่องความสูญเสียและความเสียหายไว้เป็นอีกหนึ่งมาตรานี้ ก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อแนวทางต่อไปที่ประชาคมโลกจะได้ร่วมมือกันเตรียมการและตอบสนองต่อเหตุการณ์รุนแรงทางสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเจรจาในรายละเอียดต่อไป
ในเรื่องการเงิน ประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนด้านการเงินปีละ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงปี 2025 แต่ข้อตกลงปารีสกลับแสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของความรับผิดชอบอย่างเป็นธรรมของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากจะไม่มีความเข้มข้นในการบังคับให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนด้านการเงินต่อไปภายหลังจากปี 2025 แล้ว ข้อตกลงปารีสกลับมีความยืดหยุ่นในเรื่องการเงินเพื่อการจัดการกับโลกร้อน โดยให้มีการกำหนดเป้าหมายการเงินใหม่หลังจากนั้น และไม่ระบุว่าใครจะเป็นผู้สนับสนุน และในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาช่วยเรื่องการเงินด้วย โดยความสมัครใจ แม้จะเป็นความสมัครใจ แต่ก็นับเป็นการเริ่มดึงให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความรับผิดในเรื่องการเงินด้วย จากเป้าหมายปารีสที่ต้องการให้มีการไหลเวียนของเงินเพื่อให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาฯ เรากลับยังไม่เห็นความชัดเจนถึงการเงินที่คาดการณ์ได้ในอนาคต
2 องศาฯ และ 1.5 องศาฯ จากปารีสส่งสัญญาณสำคัญต่อการเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และส่งสัญญาณถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการจัดการความเสี่ยงและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะความเสี่ยงและความรุนแรงจะยิ่งมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปจากระดับที่เป็นอยู่ขณะนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนและขาดความเป็นธรรมในเรื่องกลไกที่จะตอบรับกับสัญญาณดังกล่าว ความรับผิดชอบที่เป็นธรรมจากประเทศพัฒนาแล้วกำลังแผ่วลง โดยเฉพาะเรื่องความเข้มข้นในการลดการปล่อยและการสนับสนุนด้านการเงิน ในขณะที่การดำเนินการและความสมัครใจในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของประเทศกำลังพัฒนากำลังมีความชัดเจนขึ้น เราเริ่มมองเห็นความรับผิดชอบที่มากขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนา
ข้อตกลงปารีส ไม่เพียงพอที่จะทำให้โลกเราปลอดภัยและมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาฯ หรือ 1.5 องศาฯ เราจะต้องติดตามรายละเอียดต่างๆต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่จะต้องมีเพิ่มเติมมากขึ้นและคาดการณ์ได้เพื่อการลดการปล่อยและการปรับตัว เป้าหมายการลดการปล่อยที่เข้มข้น การปรับตัว การจัดการกับความสูญเสียและความเสียหายและการชดเชย รวมทั้งความพยายามและความแตกต่างของความรับผิดชอบระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา บนพื้นฐานของความเป็นธรรมในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ: http://www.komchadluek.net