31 ต.ค. 67
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศปี 2023 พุ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 12 ปีซ้อน ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 ที่ผ่านมา
จากผลการรายงาน "Greenhouse Gas Bulletin 2024" ซึ่งจัดทำโดย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดถึงความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศปี 2023 ที่ผ่านมาพุ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 12 ปีซ้อน
โดยจากการตรวจวัดของเครือข่าย Global Atmosphere Watch พบว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO
2) ในชั้นบรรยากาศมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 420 ส่วนในล้านส่วน (ppm) โดยเพิ่มขึ้นถึง 151% เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

ขณะที่ก๊าซมีเทน (CH
4 )และก๊าซไนตรัสออกไซด์ก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยความเข้มข้นของก๊าซมีเทนพุ่งสูงถึง 1,934 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) หรือ เพิ่มขึ้น 265% และความเข้มข้นของก๊าซไนตรัสออกไซด์มีค่าเท่ากับ 336.9 ส่วนต่อพันล้านส่วน (ppb) หรือ เพิ่มขึ้น 125% จากยุคก่อน

เจ้าหน้าที่ของ WMO ระบุว่า ครั้งสุดท้ายที่พบความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับ 400 ppm คือเมื่อ 3-5 ล้านปีก่อน และในปัจจุบัน ระดับความเข้มข้นนี้สูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 51%
โดยสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องทั่วโลก รวมถึงไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
เราอาจกำลังเผชิญกับ "วงจรอันตราย" เนื่องจากไฟป่าปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น ขณะที่มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นกลับดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกคงอยู่ในชั้นบรรยากาศนานขึ้น และเร่งให้โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง, Ko Barrett รองเลขาธิการ WMO กล่าว
ทั้งนี้รายงานระบุว่า ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2023 ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลานาน โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพียงอย่างเดียวมีส่วนทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นถึง 81% แนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไป หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก เนื่องจาก CO2 มีอายุยืนยาวในบรรยากาศ ซึ่งทำให้อุณหภูมิยังคงสูงอยู่แม้ว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซอย่างรวดเร็ว
สถานการณ์ปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังออกห่างจากเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2°C และพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 1.5°C จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
ที่มา