วันที่ 5 มิถุนายน 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเนื่องใน “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ประจำปี 2567 โดยมี Ms. Marlene Nilsson รองผู้อำนวยการและรักษาการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด ซึ่งในปีนี้ UNEP ได้กำหนดแนวคิดในการรณรงค์ ที่มุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูดิน การแปรสภาพของทะเลทรายให้กลับมาสมบูรณ์ และการฟื้นตัวจากภัยแล้ง ภายใต้คำขวัญ “พลิกฟื้น ผืนดิน สู้วิกฤต ภัยแล้ง” โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO รวมทั้ง ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
พล.ต.อ.พัชรวาทฯ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทส. กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมว่า ทั่วโลกกำลังประสบวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาถูกทำลาย และสภาวะแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี เช่นเดียวกันกับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งขับเคลื่อนการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ผ่านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมทั้ง การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในการรณรงค์ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมชวนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ส่งต่ออนาคตที่ดีแก่ลูกหลาน และเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวไทยจะแสดงพลังให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพความร่วมมือในการฟื้นฟูและปกป้องผืนดินและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ จะเป็นโอกาสให้ชุมชนได้นำทรัพยากรมาใช้ในการพัฒนาและเป็นแหล่งรายได้ สามารถยกระดับความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับการจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบคาร์บอนนิวทรัลอีเว้นท์ (Carbon Neutral Event) โดยได้ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงาน (เบื้องต้น) พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้มีการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ BSE-BPI Grid Connected Solar PV Project จาก บริษัท บีซีพีจี จำกัด เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์