วันที่ 14 ธันวาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “COP28: Thailand's Milestone for Climate Change” และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาหัวข้อ “Net Zero Milestone Plan” ภายในงาน Sustainability Forum 2024 ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ณ แกรนด์ ฮอลล์ ไบเทค บางนา และผ่านระบบออนไลน์ (Live Streaming) เพื่อถ่ายทอดบทสรุปจากเวที COP28 ทั้งทิศทาง แผน และเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงทิศทางนโยบายจากภาคนโยบาย และร่วมแบ่งปันมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์จากภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก ให้ประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ นายจตุพรฯ ปกท.ทส. ได้กล่าวถึง ประเด็นสำคัญของการประชุม COP28 ซึ่งจัดขึ้น ณ Expo City เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทั้งการเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงาน ลดและยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ค.ศ. 2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ มีกลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ การให้ความสำคัญกับการปรับตัว ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างความเข้มแข็งของการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ รัฐบาลไทย ยังได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้าน นายเกียรติชายฯ ผู้อำนวยการ TGO ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารจาก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยได้สะท้อนภาพความเร่งด่วนของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงคือการไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในจำนวนมาก เนื่องจากต้องดำเนินการหลายขั้นตอนและต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจ/องค์กรตั้งเป้าได้ยาก แต่ก็มีลู่ทางโดยเฉพาะ ข้อตกลงปารีส มาตรา 6 เปิดให้โลกช่วยกัน ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เกิดกลไกการตลาด
“โลกมีความเสี่ยง การลดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ต้องทำหลายขั้นตอน กว่าจะลดได้ต้องใช้เงินเยอะ หลายบริษัทตั้งเป้ายาก คำถามคือ แล้วใครจ่าย ตอนนี้พูดเยอะแต่หาสปอนเซอร์ไม่เจอ ทำอย่างไรจะอยู่กันต่อไปได้ ก็ต้องทำกันทุกคน นี่คือความยาก ต้องมีกฎเกณฑ์รัฐ ประชาชนถึงจะเกิดการบูรณาการ สำหรับประเทศไทยมีความเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ถ้านำวิกฤตินี้มาเป็นจุดลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจสีเขียว พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ซึ่งมั่นในว่าไทยพร้อมเปลี่ยนแต่ต้องมีคนมาช่วย”