จากราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แม้ว่าขณะนี้ได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 45-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้วก็ตาม ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ จะสามารถเดินไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานวางไว้ได้หรือไม่ ที่กำหนดว่า ภายในปี 2579 จะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 30% รวมถึงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกภายในปี 2579 เป็น 25% ของการใช้เชื้อเพลิง จากการผลิตไบโอดีเซล 14 ล้านลิตร และเอทานอล 11.3 ล้านลิตร
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ยังตกต่ำอยู่นี้ “ฐานเศรษฐกิจ” จึงจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “อนาคตพลังงานทางเลือกในยุคน้ำมันราคาถูก” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาฯ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทั่วไปรับทราบถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะมีทิศทางอย่างไร ประกอบกับการสะท้อนความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน
นโยบายพลังงานทดแทนเดินต่อ
โดยพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า แม้ราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กระทรวงพลังงาน ยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี(AEDP) 2558-2579 ที่ตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 30% หรือคิดเป็น 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบันเข้าระบบและมีข้อผูกพันแล้ว 9 พันเมกะวัตต์
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นพันธะสัญญากับข้อตกลงในเวทีโลกที่ต้องการลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปรับตัวลดลงมาก อย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มในปี 2549 เคยอยู่ในระดับ 180-190 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 45-50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และที่น่าประหลาดใจในการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มของประเทศดูไบ ขนาด 800 เมกะวัตต์ เมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่า มีการเสนอราคาประมาณ 1 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ของไทยรับซื้อในราคา 5.66 บาทต่อหน่วย
ดังนั้น จะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ต้นทุนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกถูกลง แต่ข้อเสียของพลังงานทดแทนคือ การผลิตที่ยังไม่มีเสถียรภาพ เพราะเป็นการพึ่งธรรมชาติและฤดูกาล ไม่สามารถนำมากักเก็บไว้ในปริมาณที่มากได้ ทางการส่งเสริมของกระทรวงพลังงานก็มองว่าจะ ทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหรือ Battery Storage ขึ้นมาได้ในราคาที่ถูกลง เพื่อให้โรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนี้ กักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ในปริมาณที่มากและสามารถส่งขายเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ทางกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็ได้อนุมัติ 500 ล้านบาท เพื่อมาใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาในส่วนนี้แล้ว
ปรับเป้าใหม่รับเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าว เพื่อที่จะนำไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนี้ สามารถนำมาเป็นโรงไฟฟ้าฐาน หากพัฒนาประสบความสำเร็จในระยะไม่เกิน 10 ปีนี้ ก็จะช่วยให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนเติบโต และสามารถปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากปัจจุบันที่วางไว้เพิ่มขึ้นได้ ถือเป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนได้อีกมากส่วนข้อจำกัดของสายส่งในการรับซื้อไฟฟ้านั้น ขณะนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติม เชื่อว่าภายในปี 2562 จะสามารถครอบคลุมทั่วประเทศรองรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้มากขึ้น ระหว่างนี้ผู้ประกอบการใดที่สนใจในธุรกิจนี้ สามารถเตรียมแผนที่จะลงทุนไว้ได้เลย เพราะเมื่อถึงเวลานั้นคาดว่าราคาต้นทุนพลังงานทดแทนจะปรับตัวลดลงอีก
ขณะที่การส่งเสริมพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซล และเอทานอล แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะมีราคาแพงกว่าราคาน้ำมันเวลานี้ก็ตาม แต่กระทรวงพลังงานก็ยังมีแผนที่จะส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และเป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น ที่มีแผนจะส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลไปถึง บี 100 จากปัจจุบันอยู่ที่ บี 7 และกำลังอยู่ในขั้นศึกษาที่จะนำไปอยู่ในการใช้บี 10 ในเร็วๆ นี้
ส.อ.ท.หนุนผลิตไฟจากชีวมวล
ขณะที่นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงพลังงานจะมีนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอย่างต่อเนื่อง แต่หากผู้ประกอบการไม่พัฒนาเทคโนโลยีก็จะมีปัญหาไม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่ผู้ประกอบการจะเข้ามาลงทุนยาก เพราะต้องใช้เวลาพัฒนาค่อนข้างมากจากการสำรวจวิเคราะห์ความเร็วลม ซึ่งมองว่าเป้าหมายไว้ 3 พันเมกะวัตต์ อาจจะประสบความสำเร็จเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมองว่าสัดส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศยังไปไม่ถึงไหน ขายไฟฟ้าเข้าระบบยังไม่ได้มาก จากความไม่เสถียร เพราะยังไม่มีระบบบริหารการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วย ดังนั้นภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เพราะนอกจากส่งขายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างต่อเนื่องได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ถึง 80% เพราะวัตถุดิบที่ใช้มาจากการเกษตร ซึ่งหากภาครัฐประกาศรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 พันเมกะวัตต์ จะมีผู้ประกอบการรีบไปยื่นเสนอขายไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ที่ยังไม่กล้าประกาศ เพราะยังติดปัญหาสายส่งจำกัดไม่สามารถรองรับการซื้อไฟฟ้าได้
ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายรับซื้ออยู่ 500 เมกะวัตต์ ก็ยังไม่สามารถยื่นเสนอขายไฟฟ้าได้ เพราะยังติดปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุน ที่ยังไม่ปลดล็อกให้ท้องถิ่นปล่อยให้เอกชนเข้าดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมของการพัฒนาพลังงานทดแทน ในอนาคตช่วง 10 ปีข้างหน้า คาดว่าพลังงานทดแทน จะสามารถเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เพราะค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลจะปรับตัวสูงขึ้นไปกว่า 5 บาทต่อหน่วย ขณะที่พลังงานทดแทนจะมีราคาถูกลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีและภาครัฐได้แก้ไขปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคได้อย่างครบถ้วน
โซลาร์แข่งเชื้อเพลิงฟอสซิลได้
ด้านนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) เห็นว่า ขณะนี้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ ยังมีทิศทางสดใส และได้รับการตอบรับจากทั่วโลกว่าเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดภาวะโลกร้อน และยังสามารถขายคาร์บอนเครดิต เป็นรายได้ให้กับทางบริษัทได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเวลานี้จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้ที่แพร่หลายทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลงมาก ที่จะมาแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ โดยเฉพาะในระยะ 3-5 ปี จากนี้ไปอาจจะมีค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ อาจจะต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่มาจากโรงไฟฟ้าฐานใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน
ที่สำคัญทางบริษัทเองก็ทำให้เห็นแล้วว่า พลังงานแสดงอาทิตย์ที่ บริษัทเสนอขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าแบบติดตั้งบนหลังคาอาคารหรือโซลาร์รูฟท็อป มีราคาต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่ภาครัฐกำหนดแล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวต่ำลงอย่างไร การพัฒนาพลังงานทดแทนจากพลังงานแสดงอาทิตย์ จะยังคงมีอยู่ต่อไป และเป็นความหวังเดียวของโลกที่จะช่วยให้ความมั่นคงด้านพลังงานมีไปลูกลูกหลานในอนาคตได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า เมื่อประเทศญี่ปุ่นต้องนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกมาจากระบบ 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ และหันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ทดแทน 6 พันเมกะวัตต์ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง
เอกชนพร้อมลงทุนต่อยอด
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐค่อนข้างดี แต่ด้วยความไม่มีเสถียรภาพทั้ง 24 ชั่วโมง รวมถึงพลังงานลมด้วย ทำอย่างไรจะนำไปสู่การขายไฟฟ้าที่เป็นเฟิร์มได้ ฉะนั้นผู้ประกอบการควรจะต้องรีบกลับไปปรับตัว แล้วมองตัวเองว่าจะทำอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะเวลานี้การลงทุนการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เริ่มมีต้นทุนราคาถูกลงแล้ว
โดยปัจจุบันกลุ่มพลังงานทดแทนในเรื่องของโซลาร์ สามารถตอบโจทย์ด้านราคาได้แล้ว ราคาน้ำมันที่ตกลงมาจึงไม่กระทบ เพราะถ้าพูดถึงโซลาร์วันนี้มีผู้ประกอบการ เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาในราคาต่ำกว่าไฟฟ้าทุกกรณี 5% ก็แปลว่ามันคุ้มค่าที่จะทำแล้ว รวมถึงโซลาร์ฟาร์ม ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ จะทำอย่างไรให้ปริมาณไฟฟ้ามีเสถียรภาพจ่ายได้ต่อเนื่อง
ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล ขยะ ต้นทุนแพงแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะจะขจัดปัญหาในเชิงสังคม ซึ่งตรงนี้ปริมาณขยะที่ผลิตไฟฟ้าได้มามากสุดก็ไม่เกิน 550 ตัน ส่วนชีวมวลมันเป็นเรื่องที่ว่าถ้าเกิดภาวะแห้งแล้งทั้งโลก ก็จะขาดแคลนวัตถุดิบ
นอกจากนี้ มองว่าการที่น้ำมันมีราคาถูก คงไม่ใช่ปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน เพราะผู้ประกอบการรับทราบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน ติดเพียงแต่ว่า ภาครัฐยังไม่มีความแน่นอนที่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งหากจัดลำดับความสำคัญ เอกชนก็พร้อมที่จะเสนอขายไฟฟ้า เพราะขณะนี้เองภาคเอกชนกำลังเฝ้าลงทุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลภาคใต้ 35 เมกะวัตต์ ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ การรับซื้อจากโรงไฟฟ้าชีวภาพ 15 เมกะวัตต์ ในเดือนกรกฎาคมนี้ และตามมาด้วยการประกาศรับซื้อจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมอีก 50 เมกะวัตต์ ซึ่งภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนภายในปีนี้ ก่อนที่ประกาศใช้ผังเมืองจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 มกราคม 2560 เพราะหากล่าช้าทำให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นไม่ได้ หากมีบางจังหวัดประกาศผังเมืองใหม่ออกมาบังคับใช้
จี้รัฐเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอล
ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยซูการ์มิลเลอร์ จำกัด ตัวแทนอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ตกต่ำอยู่ในเวลานี้ แม้ว่าจะเริ่มปรับแต่ก็ยังไม่สูงขึ้นมากนัก ซึ่งยังพอทำให้ธุรกิจผลิตเอทานอลยังพอไปได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ จะทำอย่างไรให้ปริมาณการใช้ในประเทศไม่ว่าเอทานอล หรือไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นให้ได้ จากปริมาณกำลังการผลิตที่ล้นอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ผลิตเอทานอลล้นตลาดเวลานี้ เพราะผลิตจากน้ำตาล และจากมันสำปะหลัง พืชทั้ง 2 ชนิดนี้มีกำลังผลิตล้นทั้งสิ้น น้ำตาลเราส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลกต่อปี 7-8 ล้านตันกระสอบ มันสำปะหลังส่งออกประมาณ 18-22 ล้านตัน สิ่งเหล่านี้เราส่งออกไปโดยการแปรรูป แล้วทำไมไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาเพิ่มมูลค่า โดยแปลงเป็นเชื้อเพลิง ก็จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้ แต่ที่ภาครัฐไม่พยายามส่งเสริมการใช้ให้มากขึ้นเพราะเกรงจะไปกระทบกับโรงกลั่นน้ำมันได้น้อยลง ซึ่งตรงนี้ทุกคนเห็นทางออก ก็ให้โรงกลั่นส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายทดแทนกัน ในขณะเดียวกันถ้าสามารถทำให้มีการใช้มากขึ้น จะทำให้เงินที่เราควรจะจ่ายโดยนำเข้าน้ำมัน ก็จะกลับมาแต่หมุนเวียนในประเทศ เกษตรกรอยู่ดีกินดีขึ้น ทำมั้ยเราจะทำไม่ได้
แต่ขณะนี้ที่มันยังละล้าละลังอยู่ ไม่รู้ว่าจะทำให้พลังงานเกิดความสมดุลขึ้นได้อย่างไร พลังงานของเรามีหลายอย่าง เราจะทำอย่างไรให้คนใช้พลังงานหรือคนที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้รับราคาที่เป็นธรรมได้ ทำอย่างไรให้ผู้ผลิตกลางน้ำ โรงกลั่น ผู้ผลิตเอทานอล ไบโอดีเซล ให้อยู่ได้ และทำอย่างไรให้ต้นน้ำคือเกษตรกรผู้ผลิต อยู่ได้ด้วย โดยภาครัฐจะต้องวางนโยบายให้ดี ต้องสร้างสมดุลเชื้อเพลิงชีวภาพกับน้ำมันให้ได้ โดยมาตรการรัฐต้องเข้มแข็งและแน่นอน
ไบโอดีเซลบี้ใช้บี10
ด้านนายศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยสะท้อนให้เห็นว่า ราคาน้ำมันที่มีราคาถูก ไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลถึงทางตัน แต่เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่กล้าจะผลักดันให้มีการใช้ในปริมาณที่มากขึ้น เพราะวันนี้มีกำลังการผลิตไบโอดีเซลหรือบี 100 ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีการใช้ไม่ถึง 4 ล้านลิตรต่อวันและเกือบทั้งหมดผลิตมาจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งเกี่ยวพันกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มโดยตรง ที่มีส่วนได้เสียจากผลราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือปรับลดลง
สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ที่ทำให้ไบโอดีเซลเดินหน้าต่อไม่ได้ นอกจากความไม่ชัดเจนด้านการส่งเสริมใช้ไบโอดีเซลให้เพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทน้ำมัน จากเดิมเป็นผู้รับซื้อ เข้ามาลงทุนผลิตไบโอดีเซลใช้เองมากขึ้น ขณะที่การศึกษาและวิจัยสามารถเพิ่มสัดส่วนการผสมในน้ำมันดีเซลได้ถึง 10% หรือบี 10 แต่เมื่อค่ายรถยนต์ไม่ตอบสนอง ภาครัฐก็ไม่สามารถที่จะผลักดันต่อไปได้
อีกทั้งการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันก็มีความยากลำบาก เพราะไปเกี่ยวข้องกับการบริโภค เมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม ก็ต้องปั่นส่วนของการผลิตไบโอดีเซลไปให้สำหรับบริโภคก่อน โดยลดสัดส่วนการผลิตในน้ำมันดีเซลจากบี 7 เหลือบี 3.5 เป็นต้น ก็ทำให้การใช้บี 100 ลดลงตามไปด้วย ซึ่งหากนโยบายการส่งเสริมเป็นเช่นนี้ ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาอีกมาก หากภาครัฐไม่เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจะตกไปถึงเกษตรกรจากราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ http://www.thansettakij.com