01 ก.ค. 68
ต้นไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ การปลูกต้นไม้ 1 ต้นสามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 0.95 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ไร่/ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด พื้นที่ปลูก การดูแลรักษา และสภาพแวดล้อม การปลูกต้นไม้ในระดับชุมชนสามารถพัฒนาเป็น “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ที่พัฒนาโดย อบก. ได้
ในปัจจุบัน (พ.ค. 68) มีโครงการภาคป่าไม้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER เรียบร้อยแล้ว 118 โครงการ โดยคาดว่าจะสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ 905,023 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO
2eq/year) โดยในจำนวนนี้มีพื้นที่ป่าชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 35 โครงการ จาก 137 ป่าชุมชน จำนวนพื้นที่ 155,309.75 ไร่ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 89,247 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO
2eq/year) จาก118 โครงการ ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว 17 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิต 573,238 (tCO
2eq) ที่นำไปขายในตลาดคาร์บอนได้
โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ได้เปลี่ยนการปลูกต้นไม้จากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไปสู่การสร้าง “ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม” โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้สามารถขายให้แก่ภาคธุรกิจหรือองค์กรที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งราคาซื้อขายเฉลี่ยของคาร์บอนเครดิตในตลาดสมัครใจในประเทศไทย ณ 31 พ.ค. 68 อยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นั่นหมายความว่า ชุมชนที่ปลูกต้นไม้จำนวนมากและมีศักยภาพ มีความรู้ความเข้าใจขั้นตอน ก็สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ได้ ซึ่งผลพลอยได้นี้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน
กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดหนองจระเข้ ตําบลบ้านนา อําเภอแกลง จังหวัดระยอง โครงการฯ ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทั้งหมด 46.99 ไร่ เป็นโครงการขนาดเล็ก โดยพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูกเป็นไม้พื้นเมืองคิดเป็นร้อยละ 98.33 ของจำนวนต้นไม้ทั้งหมด ได้แก่ พะยูง ยางนา ตะเคียนทอง กันเกรา เป็นต้น ส่วนที่เหลือเป็นไม้ต่างถิ่น ได้แก่ แคบ้าน โกงกางเขา กระดังงาไทย ทรงบาดาล ประดู่แดง สาแก เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่โครงการได้มีการดำเนินกิจกรรมการบำรุงรักษา ดูแล และการจัดการตามหลักวิชาการ เช่น การใส่ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงดิน การขุดคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วม มีการจัดทำแนวกันไฟ การลิดกิ่ง การตัดขยายระยะ และได้รับความร่วมมือจากพระลูกวัดรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงในการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบตัดและทำลายต้นไม้ที่ปลูก โดยโครงการฯ ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต ครั้งที่ 1 จำนวน 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีการกักเก็บเพิ่มพูนขึ้น ในช่วงเวลาวันที่ 15 กันยายน 2556 - 15 มกราคม 2560 โดยคาร์บอนเครดิตที่รับรองมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเอกสารข้อเสนอโครงการตอนขึ้นทะเบียน อันเนื่องมาจากสาเหตุ ต้นไม้ในแปลงส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก โดยพบว่ามีไม้ใหญ่เพียง 403 ต้น คิดเป็นร้อยละ 8.51 ของจำนวนต้นไม้ทั้งหมดในแปลงสำรวจ นอกนั้นร้อยละ 47.33 เป็นไม้หนุ่ม และร้อยละ 44.16 เป็นกล้าไม้ ซึ่งกล้าไม้จะไม่ได้นำมาคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เนื่องจากไม่มีสมการแอลโลเมตรีและยังมีขนาดเล็กมาก อีกสาเหตุหนึ่งคือปกติอัตราความเพิ่มพูนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ กรณีเลือกใช้ค่าคงที่ของพรรณไม้พื้นเมืองโตช้า คือ 0.95 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ไร่/ปี ทั้งนี้ โครงการฯ ของวัดหนองจระเข้มีสัดส่วนของไม้พื้นเมืองร้อยละ 98.33 โดยข้อมูลที่รวบรวมได้จากการศึกษาเกือบทั้งหมดเป็นการศึกษาในไม้ใหญ่ แต่ต้นไม้ในโครงการยังเล็ก ปริมาณคาร์บอนเครดิตจึงไม่สอดคล้องกับที่มาของค่าคงที่ดังกล่าว
โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดหนองจระเข้ ถือเป็นโครงการแรกของประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER โดยปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินโครงการเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ได้แก่ เจ้าอาวาส พระลูกวัด และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นหลักในการดำเนินการโครงการฯ ปัจจุบันโครงการฯ ได้ขายคาร์บอนเครดิตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขาย 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีราคา 1,875 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อใช้ในการชดเชยคาร์บอนให้กับองค์กร ซึ่งราคานี้อยู่ที่การตกลงกันระหว่าง ผู้ซื้อ - ผู้ขาย โดยผู้ซื้อต้องการสนับสนุนการทำความดี ทำบุญ สนับสนุนผู้ปลูกป่า นอกจากนี้ ในระยะเวลาคิดเครดิตที่เหลือของโครงการฯ ช่วง 2560-2567 มีหลายองค์กรในพื้นที่ EEC ที่ติดต่อกับทางวัดหนองจระเข้ สำหรับการให้การสนับสนุนค่าทวนสอบข้อมูลเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต โดยองค์กรเหล่านั้นได้นำงบประมาณจากการทำ CSR มาต่อยอดเพื่อทำเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตเพื่อนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ชดเชย มากกว่านั้นองค์กรได้เล็งเห็นถึงผลตอบแทนจากโครงการฯ ที่มากกว่าในหลายด้าน โดยเฉพาะตอบโจทย์ด้าน Environment และ Social
การปลูกต้นไม้ไม่ใช่เพียงกิจกรรมสร้างสีเขียวในเมืองหรือภาพถ่ายลงโซเชียลมีเดีย แต่คือโอกาสแห่งการ “เปลี่ยนโลก” ด้วยมือของประชาชนทุกคน ต้นไม้หนึ่งต้นอาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อรวมเป็นล้านต้น กลับสามารถสร้างความสมดุลคาร์บอนของทั้งประเทศได้ อีกทั้งยังเปิดประตูสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม
อ้างอิง :
https://tver.tgo.or.th/database/public/projects/1/1?fbclid=IwY2xjawLQMspleHRuA2FlbQIxMABicmlkETFWQjA1eGV1cWY2YnRKR3I1AR4DZLO0G-IJ1x1L2PfQ5vwXa_QV7JMRklmR9WhZ_QneH-QfVcZENmi29jsriQ_aem_otMnAkhCLSQcWnGmPkFsag