facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • 548

"ภาวะโลกร้อน" เร่งการสูญพันธุ์

15 มิ.ย. 58

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเคยเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในบ้านเราอยู่ระยะหนึ่งหลายปีมาแล้วตอนนั้นคำที่เราใช้กันคือภาวะโลกร้อน หรือโกลบอล วอร์มมิ่ง ซึ่งตอนหลังในแวดวงวิชาการเปลี่ยนมาใช้คำว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแทนเพราะกินความหมายได้ครอบคลุมกว่า

แต่โดยพื้นฐานของปัญหาก็คือเรื่องเดียวกัน นั่นคือการที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นนั่นเอง สาเหตุหลักของการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยฝีมือมนุษย์ ผลที่ตามมาก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็ส่งผลกระทบหลายๆ อย่างตามมา

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของมาร์ก เออร์บัน นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคทิคัต ในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ (Science) เมื่อเร็วๆ นี้ คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้สัตว์และพืชชนิดต่างๆ ราว 1 ใน 6 สูญพันธุ์ไปจากโลก สภาวะโลกร้อนทำให้การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

ดร.เออร์บันสำรวจการศึกษาแบบจำลองการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ชนิดต่างๆที่มีอยู่นับร้อยๆ ชิ้น คัดเลือกมา 131 ชิ้น นำข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้มาประมวลวิเคราะห์ใหม่ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

ผลการวิเคราะห์พบว่า ร้อยละ 7.9 ของสิ่งมีชีวิตคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ นี่เป็นการประเมินขั้นต่ำ

จากการคำนวณของ ดร.เออร์บัน หากอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 3.6 องศาฟาห์เรนไฮต์ (2 องศาเซลเซียส) ร้อยละ 5.2 ของสิ่งชีวิตจะสูญพันธุ์ หากอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 7.7 องศาฟาห์เรนไฮต์ (ประมาณ 4 องศาเซลเซียส) สิ่งมีชีวิตร้อยละ 16 จะสูญพันธุ์จากโลก

ข้อมูลการศึกษาที่ ดร.เออร์บันรวบรวมมาส่วนใหญ่หนักไปทางอเมริกาเหนือและยุโรป มีอเมริกาใต้อยู่ด้วยเพียง 7 ชิ้น ถ้าเอาเฉพาะข้อมูลจากอเมริกาใต้สิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์มีมากถึง 23 ชนิด

นักวิชาการบางคนคิดว่าขนาดการสูญพันธุ์ที่ ดร.เออร์บันประเมินยังต่ำเกินไปมาก เพราะหากรวมเอาป่าเขตร้อนซึ่งเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์มากๆ เข้ามาไว้ด้วย อัตราการสูญพันธุ์จะสูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้มาก

พืชและสัตว์สูญพันธุ์ไปมากๆ ก็หมายถึงหายนะโดยรวมๆ ของโลกนั่นละครับ ความหลากหลายทางชีวภาพจะหดหายไป ระบบนิเวศจะเสียสมดุล

แปลเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือขาดความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ มีความเกี่ยวพันกันในระบบนิเวศ ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไปก็จะส่งผลต่ออีกชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

ที่จริงผลการศึกษาของ ดร.เออร์บันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา เพียงแต่ทำให้ภาพชัดขึ้นมาอีกระดับ ย้ำในสิ่งที่ก็พอจะรู้กันอยู่แล้วว่ามันกำลังเกิดขึ้น เป็นภาพอนาคตแห่งหายนะที่พอเห็นได้ หากอยากจะหยุดหรือชะลอมันลงก็ต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้

ถ้ายังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่นน้ำมันกันโครมๆ อยู่แบบนี้ อนาคตที่ว่าก็คงมาถึงเร็วขึ้น น่าเศร้าใจที่เราไม่สำเหนียกกันสักเท่าไร เรายังใช้ชีวิตกันอย่างเลอะๆ เทอะๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้ส่งผลต่ออนาคตในวันข้างหน้า

เราร้องแรกแหกกระเชออยากได้น้ำมันราคาถูกๆ จนลืมนึกถึงผลด้านกลับของมัน


ที่มาของข่าวและรูปภาพประกอบ: http://www.matichon.co.th