facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • 596

ภาวะโลกร้อน และ เอลนิโญ ชาวนาไทยสูญ 5 หมื่นล้าน

03 ส.ค. 58

3 ปีที่ผ่านมา คนไทยต้องประสบปัญหาภาวะร้อนและแห้งแล้งผิดปกติ กว่าฝนจะตกต้องตามฤดูก็ล่วงเข้าเดือนสิงหาคมของทุกปี จากปกติเดือนเมษายน-พฤษภาคมฝนจะเริ่มตกมากขึ้น องค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกาบอกว่า ในอีก 85 ปีข้างหน้าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะเพิ่มเท่าตัวจากปัจจุบัน 400 ส่วนในล้านส่วนจะเพิ่มเป็น 945 ส่วนในล้านส่วน อุณหภูมิหน้าหนาวของไทยต่ำสุดจะอยู่ที่ 30-35 องศาเซลเซียส ซึ่งค่อนข้างสูงมาก ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษถึงกับบอกว่า ภาวะโลกร้อนขึ้นทุกวันไม่ต่างจากการเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์

ปกติเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ยังพอมีลมหนาวจากจีนมาปะทะความชื้นจากทะเลที่พัดเข้าไทยทำให้เกิดฝนตก แต่เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความเย็นจากจีนเริ่มหายไปจากกิจกรรมหลากหลายประเภท ไม่มีแรงส่งอากาศหนาวจากจีนมาปะทะความชื้นในช่วงฤดูร้อน จึงเกิดภาวะแห้งแล้งขึ้นเรื่อย ๆ พายุจากแปซิฟิกแทนที่จะวิ่งเข้าไทย กลับหันหัวมุ่งขึ้นทางเหนือที่มีอากาศเย็นกว่าแทน จึงน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น อนาคตไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ในยุทธศาสตร์น้ำ เพราะน้ำในเขื่อนใหญ่แห้งขอด ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มสวนทาง ยุทธศาสตร์ป่าไม้ ป่าไม้เริ่มร่อยหรอลงทุกวัน แต่การส่งเสริมปลูกป่าภาคเอกชนช่วยภาครัฐอีกแรงกลับไปไม่ถึงไหน เพราะปลูกแล้วตัดขายลำบาก และยุทธศาสตร์พลังงาน ที่ควรจะใช้โซลาร์รูฟตามบ้าน รวมทั้งใช้รถไฟฟ้า รถไฮบริด และรถพลังงานไฮโดรเจนให้มากขึ้นกว่านี้

หากพูดถึงความเสียหายจากภาวะโลกร้อนและการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญฝนแล้งในแถบประเทศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกในขณะนี้เฉพาะประเทศไทย ภาคเกษตรจะเห็นความเสียหายได้ชัดเจนที่สุด 3 ปีที่ฝนตกลงมาน้อย น้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ลดลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องประกาศให้ชาวนา 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยางดการปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2557-30 เมษายน 2558) และต้องเลื่อนการทำนาปีปีการผลิต 2558/59 จากช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะน้ำในเขื่อนเหลือน้อยมาก และมีแนวโน้มสูงที่จะต้องให้ชาวนางดทำนาปรังช่วงวันที่ 1 พฤจิกายน 2558-30 เมษายน 2559 อีกครั้ง รวมทั้งเลื่อนการทำนาปี 2559/2560 ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2559 อีก

ครึ่งปีแรกความเสียหายเฉพาะข้าวหายไปจากระบบประมาณ 9 ล้านตันข้าวเปลือก หากราคาข้าวตันละ 8,000 บาท มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 7.2 หมื่นล้านบาท แต่หากรวมทั้งปีนี้ ความเสียหายจะลดลงมาเหลือ 6 ล้านตันข้าวเปลือก มูลค่าความเสียหายเกือบ 5 หมื่นล้านบาท นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าว

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จีดีพีภาคเกษตรมีมูลค่า 7.41 แสนล้านบาท หดตัวหรือติดลบร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2557 ที่มีจีดีพีมูลค่า 7.65 แสนล้านบาท และคาดว่าตลอดปี 2558 จะมีมูลค่าจีดีพีภาคเกษตร 1.38 ล้านล้านบาท หรือติดลบ 3.3-4.3% เทียบกับปี 2557 ทั้งปี มูลค่า 1.41 ล้านล้านบาท จีดีพีภาคเกษตรปี 2558 จึงมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง สศก.มา 36 ปี

โดยครึ่งแรกปีนี้ สาขาพืชหดตัวร้อยละ 7.3 จากผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ซึ่งมีเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลงมาในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองจากปัญหาภัยแล้ง จนทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก สับปะรดโรงงานมีผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้ต้นสับปะรดไม่สมบูรณ์และไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ขณะที่ยางพาราลดลงจากสภาพอากาศร้อน ทำให้ต้นยางให้น้ำยางน้อย ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายควบคุมปริมาณยางพาราเพื่อรักษาระดับราคาภายในประเทศ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นสวนยางเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ปาล์มน้ำมันผลผลิตลดลงจากภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปาล์มมีช่อดอกตัวผู้มากกว่าตัวเมีย จำนวนปาล์มทะลายจึงลดลงและมีขนาดทะลายที่เล็กลงด้วย ผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และเงาะ ผลผลิตลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจึงไม่เอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล

ส่วนมันสำปะหลัง อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวและพืชอื่นที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชเหล่านี้ทดแทน และผลผลิตลำไยนอกฤดูที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตลำไยนอกฤดูและผลผลิตจากแหล่งใหม่ในภาคกลางและตะวันออกที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด

ในด้านราคาพืชข้าวเปลือกเจ้ามีราคาเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลง ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมในประเทศที่ขยายตัว ขณะที่ราคาสับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด และเงาะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ลดลง ส่วนพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน และลำไย โดยเฉพาะยางพาราราคายังหดตัวจากอุปทานในตลาดโลกที่ยังล้นตลาด อ้อยมีราคาลดลงจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ลำไยมีราคาลดลงจากผลผลิตนอกฤดูออกสู่ตลาดมากขึ้น

สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น จากการขยายการเลี้ยงและระบบฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน แม้ว่าสภาพอากาศร้อนจะส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์บ้าง แต่ไม่กระทบต่อปริมาณผลผลิตรวม โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการจากตลาดภายในและต่างประเทศการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากการขยายการเลี้ยงที่เป็นผลจากแรงจูงใจด้านราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนน้ำนมดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนแม่โคและมาตรการเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบลิตรละ 1 บาท

ราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ลดลง ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ยกเว้นราคาน้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการปรับราคารับซื้อ ส่วนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2558 พบว่าปริมาณและมูลค่าส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น สาขาประมงขยายตัวร้อยละ 2.2 จากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นหลังการฟื้นตัวจากปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ขณะที่ปริมาณสัตว์ขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 ลดลง จากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเร่งจับเพื่อหนีภัยแล้ง

สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ6.6 จากการจ้างเตรียมดิน ไถพรวนดินและเกี่ยวข้าวลดลง เหตุพื้นที่นาปรังลดลงจากปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่เหลือน้อยสาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากผลผลิตป่าไม้สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส น้ำผึ้ง และถ่านไม้ โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ตัดโค่นสวนยางเก่าของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้วัตถุดิบผลิตกระดาษของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ


ที่มาของข่าวและรูปภาพประกอบ: http://www.prachachat.net