facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list

บทความ

 

วาเลนไทน์ 2568 ปลูกต้นไม้แทนใจ เพิ่มการกักเก็บคาร์บอน และรักโลกไปด้วยกัน

13 ก.พ. 68

                วันวาเลนไทน์เป็นวันที่ผู้คนมอบความรักให้กันด้วยดอกไม้ ช็อกโกแลต หรือของขวัญต่างๆ แต่ในปีนี้ ทำไมไม่ลองเปลี่ยนจากการให้ของขวัญที่ใช้แล้วหมดไป มาเป็นของขวัญที่ยั่งยืนและช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่าง “ต้นไม้” เพราะต้นไม้ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความงอกงาม แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ซึ่งต้นไม้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากอากาศเพื่อทำการสังเคราะห์แสง และกักเก็บคาร์บอนไปสะสมไว้ในส่วนต่างๆ เช่น ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ราก เป็นต้น เมื่อเราปลูกต้นไม้ ไม่เพียงแต่เราจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังช่วยเพิ่มความร่มรื่น ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่า และเป็นกิจกรรมที่สร้างความทรงจำที่ดีระหว่างคู่รัก ครอบครัว หรือเพื่อน และเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและการดูแลสิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย โดยต้นไม้แต่ละชนิดสามารถกักเก็บคาร์บอนได้แตกต่างกัน เช่น
                1. ต้นสัก มีค่าการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ = 1.36-2.16 tCO2eq/ไร่/ปี
                2. ต้นพะยูง มีค่าการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ = 0.95 tCO2eq/ไร่/ปี
                3. ต้นกระถินณรงค์ มีค่าการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ = 0.77-6.49 tCO2eq/ไร่/ปี
                4. ยางพารา มีค่าการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ = 4.22 tCO2eq/ไร่/ปี
                5. ยูคาลิปตัส มีค่าการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ = 4.77-6.09 tCO2eq/ไร่/ปี
                6. พรรณไม้ปลูกในเมือง เช่น หางนกยูง ชมพูพันธุ์ทิพย์ ราชพฤกษ์ อินทนิล เป็นต้น มีค่าการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ = 1.21 tCO2eq/ไร่/ปี

                ทั้งนี้ ยังมีพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่สามารถประเมินค่าศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนได้ และปัจจัยที่จะสามารถเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้ก็คือ ชนิดพันธุ์ของไม้ การดูแลและการจัดการอย่างถูกวิธี และการบำรุงรักษาต้นไม้ให้เติบโต เป็นต้น ซึ่งหากจะนำต้นไม้ที่ปลูกไว้มาพัฒนาเป็นโครงการคาร์บอนเครดิต จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) และระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ TGO ระบุไว้ ดังนั้น ผู้พัฒนาโครงการควรต้องมีความเข้าใจในหลักการพื้นฐาน คือ (1) โครงการคาร์บอนเครดิต ต้องมี Additionality คือ มีส่วนเพิ่มเติมจากการดำเนินงานปกติ หากเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว หรือไม่สามารถพิสูจน์ว่ามี Additionality มีการดำเนินงานเพิ่มเติมได้ ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่เข้าข่าย การเป็นโครงการคาร์บอนเครดิต (2) โครงการคาร์บอนเครดิต ต้องมีกระบวนการ MRV คือมีการตรวจสอบประเมิน จัดทำรายงาน และทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามหลักการสากล และต้องได้รับการรับรอง “ปริมาณคาร์บอนเครดิต” จาก อบก. แล้ว จึงสามารถนำคาร์บอนเครดิต TVER ที่มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” (Ton CO2 Equivalent) ไปซื้อขายถ่ายโอนได้ (3) โครงการคาร์บอนเครดิต T-VER โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคป่าไม้ ต้องมีความยั่งยืนถาวร หรือ Permanence สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://tver.tgo.or.th/

                การให้ต้นไม้เป็นของขวัญไม่ได้ช่วยแค่โลก แต่ยังเป็นการแสดงความรักที่ลึกซึ้งและมีความหมาย ลองเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในวันวาเลนไทน์นี้ แล้วคุณจะพบว่า ความรักที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แค่การให้ระหว่างคนสองคน แต่ยังรวมถึงการให้ต่อโลกของเราอีกด้วย วาเลนไทน์ปีนี้ มาปลูกต้นไม้ แทนใจ และร่วมรักษ์โลกไปด้วยกันนะครับ!

                อ้างอิง: คู่มือศักยภาพของพรรณไม้ สำหรับส่งเสริมภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดภาคป่าไม้