facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • 1323

สารทำความเย็น R32 อีกหนทางช่วยลดโลกร้อน

26 ก.พ. 60

ปัญหาโลกร้อน เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ แม้จะ ไม่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์มายืนยันก็ตาม และในเวทีระดับโลกมีความพยายามที่จะเยียวยาสภาพอากาศ ภูมิอากาศปัจจุบันไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางอุ่นขึ้นหรือร้อนขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ปัจจัยที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหนีไม่พ้นว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น และอุตสาหกรรมทำความเย็น ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ทำให้ชั้นบรรยากาศโอโซนโลกเกิดรูโหว่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้สาร HCFC (Hydrochlorofluorocarbon) และสาร CFC (chlorofluorocarbon) ซึ่งจัดเป็นสารอันตรายที่ทำลายชั้นโอโซนและก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกจำนวนมากในอุตสาหกรรมทำความเย็น แม้ที่ผ่านมา ในระดับนานาชาติ ได้บัญญัติให้แต่ละประเทศห้ามใช้สาร CFC และสาร HCFC เป็นสารในการทำความเย็น เพราะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็นรุ่นเก่าที่ยังคงใช้สาร HCFC ในการทำความเย็น และต้องยอมรับว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็นยังมีความจำเป็นต่อมนุษย์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะความเกี่ยวโยงกับการเก็บรักษาคุณภาพอาหาร

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารเย็นและระบบทำความเย็นในเขตเมือง" (Climate Change and Linkage to Cold Food Chain and Comfort Cooling in Urban Areas) ขึ้น เพื่อให้สังคมตระหนักถึงพิษภัยของสาร HCFC

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่า ในขณะที่โลกกำลังตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศผู้นำเข้าและใช้สาร HCFC มากที่สุด จึงต้องปรับตัวและมีส่วนรับผิดชอบในปัญหานี้ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้สารทำความเย็นที่ทำลายโลกน้อยลง จึงเป็นสิ่งจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจจะคุ้นกับสารทำความเย็นที่ชื่อว่า HCFC ซึ่งอยู่กับคนไทยมานานพอสมควร แต่สารทำความเย็นตัวใหม่ที่เรียกว่า R32 เป็นทางเลือกที่ดีกว่าในทุกๆ ด้าน จึงได้รับการผลักดันจากทั่วโลกให้ใช้สารชนิดนี้แทนสาร HCFC เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศโลก ส่วนในประเทศไทยสารทำความเย็นตัวใหม่และอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันจะถูกผลักดันให้ใช้ 100% ในปีนี้

"ประเทศไทยต้องปรับตัวและมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาโลกร้อนนี้ด้วย ดังเช่นพระราชดำรัสของสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา 4 ธันวาคม 2532 ความว่า ...แต่ก่อนนี้เคยพูดถึงสิ่งแวดล้อมในชั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลกก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลก เพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมา จะมีหน้าตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น" ดร.กมลินทร์กล่าว

ดร.วิรัช วิฑูรย์เธียร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากธนาคารโลก กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เราจะมองผ่านและเขี่ยไว้ใต้พรมไม่ได้ ถึงแม้ระบบทำความเย็นในรูปแบบต่างๆ จะสร้างผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโอโซนโดยตรง แต่การทำความเย็นก็มีความจำเป็นต่อชีวิตผู้คน เช่น ใช้เก็บรักษายารักษาโรคซึ่งต้องแช่เย็นเท่านั้น หรือการเก็บรักษาถนอมอาหาร ก็ต้องใช้ความเย็นเพื่อให้อาหารมีอายุยาวขึ้นและมีคุณภาพดี ข้อมูลการสำรวจของธนาคารโลกพบว่า มีการสูญเสียอาหาร 30-40% กว่าจะถึงมือผู้บริโภค เพราะมีระบบจัดเก็บความเย็นไม่ดีหรือไม่เพียงพอ ในแง่เศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ และอาหารที่สูญเสียไปนี้ ถ้าเทียบกับการทำให้เกิดมลภาวะ ยังคิดเป็น 2 เท่าของมลภาวะที่มาจากการขนส่งทางบกในสหรัฐอเมริกาในปี 2010 ทั้งประเทศด้วย

ตัวอย่างประเทศที่มีปัญหาการรักษาความเย็นอาหารไม่ดีพอ เช่น ในประเทศอินเดีย มีคนตายเพราะขาดอาหารจำนวนมาก แต่ 40% ของอาหารในอินเดียกลับต้องเน่าเสีย เพราะไม่มีระบบจัดเก็บทำความเย็นที่มีคุณภาพพอ รวมทั้งยังไม่มีระบบขนส่งตู่แช่เย็นที่ดีอีกด้วย หรือแม้แต่เรื่องการทำงานในออฟฟิศ มีงานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุว่า คนเราจะสามารถทำงานและเรียนได้ดีเมื่ออยู่ในอุณหภูมิ 22-24 องศาเซลเซียส สะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครื่องทำความเย็น และการใช้สารทำความเย็นยังเป็นสิ่งที่เราต้องการ อย่างไรก็ตาม เราจึงจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการใช้สารทำความเย็นและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

นักวิชาการจากธนาคารโลกกล่าวต่อว่า อย่างที่เราทราบกันดี ในเวทีโลกก็ได้กำหนดสิ่งที่เรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" ซึ่งก็คือระบบจัดการสิทธิในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าปล่อยมากก็ต้องเสียเงินมาก หรือถ้าปล่อยน้อยหรือไม่ปล่อยเลย ก็สามารถนำเครดิตตัวนี้ไปขายให้ประเทศอื่นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากได้ แต่ระบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา เพราะไม่ได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างแท้จริง และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะถ้าอากาศร้อนขึ้น คนมีเงินก็สามารถซื้อเครื่องปรับอากาศมาใช้คลายร้อนได้ แต่คนยากจนในประเทศยากจน ไม่มีเงินซื้อเครื่องปรับอากาศมาช่วยอากาศร้อนได้ ทำให้ประเมินได้ว่า หากโลกร้อนขึ้น ต่อไปอาจมีคนตายเพราะอากาศร้อนเป็นจำนวนมาก ธนาคารโลกจึงจะเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหาโลกร้อน และมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินให้เปล่า เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการช่วยเหลือด้านการพัฒนาบุคลากรและเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำลงได้

โดยในหลายปีที่ผ่าน ธนาคารโลก กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการโรงงานของไทย ก็ได้ร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งมีเม็ดเงินในการสนับสนุนแบบให้เปล่าไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท ถ้าผู้ประกอบการที่สนใจหรือมีปัญหาก็สามารถติดต่อผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมได้

สำหรับประเทศไทยนั้น ดร.วิรัชกล่าวว่า ประเทศไทยร่วมลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งมีเป้าหมายต้องการลดอุณหภูมิของโลกให้ได้มากที่สุด โดยไทยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25% ภายในปี พ.ศ.2573 อย่างไรก็ตาม แต่ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเขตเมืองนั้นมีสูงถึง 80% และภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30%

"ก๊าซเรือนกระจกในเขตเมืองนี้ มาจากการเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่ ถือว่ามีสัดส่วนสูงมาก ยังไม่รวมพลังงานในการส่องสว่าง หรือยานพาหนะ แต่ 30% ก็ไม่ใช่ส่วนที่จัดการยากมากนัก เราอาจจะเห็นโครงการปิดแอร์ตอนเที่ยงก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดสัดส่วนตรงนี้ แต่ในประเทศเองก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า R32 ที่สามารถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า" ดร.วิรัชกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในภาคอุตสาหกรรมไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 ให้ได้ 43 ล้านตัน โดยส่วนในภาคการขนส่ง มีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและใช้พลังงานทดแทน คาดว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 42 ล้านตัน ในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต สามารถลดได้จำนวน 6 แสนตัน และในภาคกำจัดของเสีย โดยเพิ่มการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดของเสีย คาดว่าลดก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 7 แสนตัน ซึ่งเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ในปี 2030 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15-25% จาก 250 ล้านตันในปี 2559 "ถ้าเราเมินเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ เขตเมืองจะกลายเป็นปัญหาสูงที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงก๊าซเรือนกระจกอัตรา 80% เท่านั้นที่ถูกปล่อยออกมา แต่ปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ยังทำให้เกิดภัยพิบัติ ซึ่งมีผลกระทบสูง เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทุกคนก็น่าจะยังจำได้ ว่าก่อให้เกิดความเสียหายในทุกๆ ด้านมากแค่ไหน เพราะในอนาคต 60% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การเตรียมพร้อมให้เขตเมืองสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ" ดร.วิรัชกล่าว

การลดใช้สารทำความเย็นที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม ดร.วิรัชกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และพุ่งเป้าไปที่กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็น R32 ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 คือ การลดละเลิกการใช้สาร HCFC และเปลี่ยนไปใช้สาร R32 แทน ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟได้มากขึ้น 10% และยังทำความเย็นได้มากขึ้น 8% ในเครื่องปรับอากาศขนาดเท่าเดิม ทำลายชั้นบรรยากาศน้อยลงประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบจากสารตัวเดิม อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าไปขายยังยุโรปและออสเตรเลียได้มากกว่าใช้สารตัวเก่า แต่ที่สำคัญคาดว่าถ้าเลิกใช้สารทำความเย็น HCFC ตั้งแต่ปีนี้ จนถึงปี ค.ศ.2030 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 790 ตัน

"สาร HCFC ในปี ค.ศ.2030 ทั่วโลกต้องเลิกใช้หมด โดยตามแผนนั้นจะเลิกใช้ในเครื่องปรับอากาศก่อน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในระยะยาว แต่ในปีนี้ ประเทศไทยจะเลิกจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารแบบเก่า 100% แต่ผู้ที่ใช้มาก่อนก็ยังใช้ได้ถึงปี ค.ศ.2030 การใช้สาร R32 นั้น ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่แค่เครื่องจักรมารองรับเท่านั้น ยังรวมไปถึงบุคลากรด้วย โดยเฉพาะช่างมาซ่อมเครื่องปรับอากาศควรเลือกใช้สารตัวใหม่แทนตัวเก่า เพราะฉะนั้นการสร้างการรับรู้ในวงกว้างก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เฉพาะแค่ภาคครัวเรือน แต่ในภาคอุตสาหกรรมก็เช่นกัน แต่ผู้ประกอบการยังไม่กล้าที่จะเปลี่ยนไปสู่อะไรใหม่ๆ ถึงแม้เราจะมีการช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านได้เร็วกว่าอีกหลายประเทศอย่างแน่นอน" ดร.วิรัชกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากธนาคารโลกยังทิ้งท้ายว่า อีกส่วนที่ต้องคำนึงถึงในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ก็คือการบริหารจัดการพลังงานในระบบความเย็น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อินเดียมีของที่เน่าเสียเพราะมีระบบความเย็นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ทางเลือกไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ห้องเย็นเทคโนโลยีสูงเท่านั้นที่ช่วยเก็บรักษาคุณภาพอาหาร ระหว่างการขนส่ง แต่อาจจะใช้ถังน้ำแข็งแบบไทยๆ สามารถเก็บความเย็นไว้ที่ 0 องศา ได้ถึง 3-4 วัน ไม่จำเป็นต้องสร้างห้องเย็นให้สิ้นเปลืองพลังงาน

"หรือแม้กระทั่งการไม่ปิด-เปิดแอร์บ่อยๆ ก็ช่วยลดใช้พลัง งานได้ เพราะการเปิดแอร์แต่ละครั้งจะกินพลังงานมากว่าการเปิดต่อชั่วโมงถึง 7 เท่า ทั้งหมดเราจึงต้องเรียนรู้ ที่จะรู้จักในการบริหารพลังงานที่เหมาะสม ระบบทำความเย็นสำคัญ แต่การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเดี๋ยวนี้" ดร.วิรัชกล่าว.


ที่มาของบทความ: http://www.ryt9.com

ที่มาของรูปภาพประกอบ: http://www.iecono.com