เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่สามารถขายคาร์บอนเครดิต อบก. และกรมสรรพากร ได้ผลักดันให้เกิดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ธุรกรรมการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต โดยกรมสรรพากรได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 514) พ.ศ. 2554 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินการโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจอื่นๆ ผลจากการออกประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฯ ดังกล่าว อบก. ได้ส่งเสริมให้มีผู้มาขอใช้สิทธิ์ตามประมวลรัษฎากรฯ โดยมีผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) จำนวน 5 โครงการ จาก 4 บริษัท และโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (VER) จำนวน 11 โครงการ จาก 13 บริษัท ซึ่งอบก.ออกหนังสือรับรองการขายคาร์บอนเครดิต ปริมาณมากกว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำไปรับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากร
จากนั้น อบก. ได้ประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับกรมสรรพากรเพื่อขอปรับปรุงและขยายระยะเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งนำมาประกาศพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 694) พ.ศ. 2563 ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ จากโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก. เป็นเวลาสามรอบบัญชีต่อเนื่องกัน
เงื่อนไขการใช้สิทธิ
ให้คำนวณตามมาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากร โดยนิติบุคคลนั้นต้องคำนวณกำไรสุทธิของรายได้จากการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละโครงการแยกออกจากรายได้จากการประกอบกิจการอื่นเป็นระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
ทั้งนี้สามารถดำเนินงานได้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
อ้างอิง