17 พ.ย. 66
/Banner%20_%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%95%20%20(CCPs).jpg)
ปัจจุบันปัญหาด้านคุณภาพต่ำของคาร์บอนเครดิตเริ่มส่งผลต่อการซื้อขายในตลาดคาร์บอน ซึ่งมีผลโดยตรงต่ออุปสงค์ที่เริ่มชะลอตัวลง โดยเกิดจากความมั่นใจของผู้ซื้อในตัวสินค้าหรือคาร์บอนเครดิตลดลง รวมถึงข้อกังวลของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจไม่สามารถเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้องค์กร The Integrity Council for the Voluntary Carbon Market (ICVCM) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระดำเนินกิจการเกี่ยวข้องกับตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ ได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติ Core Carbon Principles หรือเรียกย่อ ๆ ว่า CCPs เพื่อเป็นแนวทางการประเมินคุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงเป็นแนวทางการรับรองคาร์บอนเครดิตให้กับมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการรับรองเครดิตให้มีประเสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเครดิตที่ความน่าเชื่อถือต่ำ (low-integrity credit) เข้าสู่ตลาดลดลงได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในระยะยาว โดยมีเจ้าของมาตรฐานบางรายเริ่มมีการนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น ในระดับโครงการของมาตรฐาน VERRA ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง VCS ของตนเอง เพื่อดำเนินโครงการให้สอดคล้องตาม CCPs อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2023 ที่ผ่านมา ICVCM ได้ประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่จะสามารถขอรับอนุมัติ CCP label โดยหลักเกณฑ์ CCPs ประกอบด้วย 10 ประการ จาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. Governance (ธรรมาภิบาล) จะพิจารณาเรื่องประสิทธิภาพของการกำกับดูแลที่ดี การติดตาม ความโปร่งใส การตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบโดยบุคคลที่สามที่เป็นอิสระตรงไปตรงมา
2. Emissions Impact (ผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) จะพิจารณาเรื่องมีการพิสูจน์การดำเนินงานส่วนเพิ่มจากการดำเนินงานปกติ ความถาวรของการลดก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจริง และไม่นับซ้ำ
3. Sustainable Development (การพัฒนาที่ยั่งยืน) จะพิจารณาเรื่องก่อให้เกิด Co-benefits ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ และป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ รวมทั้ง มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย Net Zero
โดยกรอบการประเมิน (Assessment Framework) แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิต (Program level) และ 2) ระดับประเภทคาร์บอนเครดิต (Credit Category Level)
นอกจากนี้ การประเมิน CCP จะให้ข้อมูลคุณสมบัติเพิ่มเติมซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตสามารถเลือกคาร์บอนเครดิตที่ตรงกับความต้องการเฉพาะของตนเองได้อีกด้วย โดยสามารถดูได้จาก CCP Attributes เช่น corresponding adjustment tag, contribution towards climate adaptation tag, align projects with host country climate commitments tag, strengthen sustainable development criteria tag, strengthen the permanence requirements tag เป็นต้น
ทั้งนี้ ICVCM ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์
https://icvcm.enkrateia.io/login เพื่อใช้สำหรับการประเมิน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ประเภทที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ในการอนุมัติ โดยแบ่งออกเป็น เครดิตสำหรับมาตรการชดเชยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน และเครดิตที่ไม่ใช่สำหรับมาตรการชดเชยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศ (non-CORSIA) จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน
โดยคาดว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการอนุมัติ CCP รอบแรกจะวางขายในตลาดคาร์บอนภายในปลายปี 2023 โดย ICVCM วางแผนที่จะเผยแพร่หลักการ CCPs และกรอบการประเมินฉบับต่อไปในปี 2025 และปรับใช้ในปี 2026 เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือของคาร์บอนเครดิตให้อยู่ในระดับสูง
อ้างอิง: