ข้อกำหนดภายใต้ความตกลงปารีส ในข้อ 4 ได้กำหนดให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงสุดของโลก (Global Peaking Emissions) โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในระยะยาว โดยต้องควบคุมระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และมีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Levels) ภายในปี ค.ศ. 2100 และให้ประเทศภาคีนำส่งเป้าหมายระดับประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NDC) ทุก 5 ปี และให้ดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย
จากการที่ประเทศไทย ได้ยื่นสัตยาบันสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2016 รวมถึงการยื่นข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะ “ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 จากระดับการปล่อยในกรณีปกติของปี ค.ศ. 2030 หรือร้อยละ 25 เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทรัพยากรด้านการเงิน และการช่วยเหลือในการสร้างขีดความสามารถแก่ประเทศอย่างเพียงพอ” โดยอาศัยข้อตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศักยภาพและมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ระหว่างปี ค.ศ. 2010–2030 จากภาคพลังงานและภาคขนส่ง คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 113.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (Mt CO2eq) จาก 5 สาขาย่อย ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานในครัวเรือน การใช้พลังงานในอาคารเชิงพาณิชย์ (รวมอาคารรัฐ) การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่ง โดยแต่ละสาขาย่อยมีการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย
รูปแสดงมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดของประเทศไทย