facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]

“โลกร้อน” กำลังกระทบต่อสมดุลโลก เสี่ยงความมั่นคงอาหาร น้ำทะเลเพิ่มสูง

24 ต.ค. 63

โลกร้อน” กำลังกระทบต่อสมดุลโลก เสี่ยงความมั่นคงอาหาร น้ำทะเลเพิ่มสูง

ในปี พ.ศ. 2562 เป็นปีที่มีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่คึกคักที่สุดปีหนึ่ง ทว่า รายงานแต่ละชิ้นไม่ได้ทำให้วงการวิทยาศาสตร์คึกคักไปด้วย เพราะทุกฉบับเตือนเราว่าสถานการณ์กำลังน่าเป็นห่วง โลกร้อนกำลังทำลายองค์ประกอบทุกอย่างของโลก ไม่เฉพาะแค่สภาพอากาศ แต่ยังรวมถึง ดิน ทะเล และไฟป่าที่เกิดถี่ขึ้น และเมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เสื่อมถอยลง มนุษย์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ

  • ดิน

รายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดิน (Special Report on Climate Change and Land) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ 107 คนจาก 52 ประเทศ ที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับแผ่นดินและภูมิอากาศทั้งระบบเป็นครั้งแรก เผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ เช่น

  • นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 ก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 66% เป็นผลมาจากภาคเกษตร และประมาณ 33% ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกมาจากปศุสัตว์ (1)
  • หากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเน้นการบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น โดยมีโปรตีนจากปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย แกะ และแพะน้อยลงจะช่วยให้การปล่อยก๊าซมีเทนลดน้อยลงไปด้วย (2)
  • ผู้จัดทำรายงานเสนอไม่ให้เปลี่ยนที่ดินสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและการผลิตพลังงานชีวภาพไปใช้เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังแนะนำประเทศต่าง ๆ จำกัดจำนวนที่ดินที่จะใช้สำหรับปลูกพืชพลังงานชีวภาพ และแนะนำให้ปลูกป่าทดแทน (2)
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง, อุณหภูมิที่สูงขึ้น และฝนไม่เพียงพอหรือมากเกินไป ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารมากขึ้น เช่น พื้นที่สูงสามารถผลิตพืชอาหาร เช่นข้าวโพดและข้าวสาลีได้มากขึ้น ส่วนพื้นที่ต่ำกว่าผลิตอาหารได้น้อยลง (3)
  • เราสามารถสรุปได้ว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเร่งอัตราการสูญเสียดินและความเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง (4)
  • น้ำ

รายงานพิเศษเกี่ยวกับมหาสมุทรและส่วนของโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Special Report on the Ocean and Cryosphere in a Changing Climate) ได้รับการอนุมัติโดยที่ประชุม ครั้งที่ 51 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)  ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 รายงานฉบับนี้มีจำนวนถึง 1,300 หน้า เรียบเรียงโดยทีมงาน 104 คน จาก 36 ประเทศ ว่าด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้พืดน้ำแข็ง (Ice sheet) และธารน้ำแข็ง (Glacier) ทั่วโลกละลาย ส่งผลต่อระดับน้ำในมหาสมุทร

เนื้อหาโดยสรุปของรายงาน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 มหาสมุทรเริ่มอุ่นขึ้นและอุณหภูมิไม่ได้ลดลง ทั้งยังดูดซับความร้อนส่วนเกินมากกว่า 90% จากระบบภูมิอากาศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 มหาสมุทรอุ่นขึ้นเป็นสองเท่า และคลื่นความร้อนในทะเลกำลังทวีความรุนแรง โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เกิดขึ้นถี่เป็นสองเท่าจากก่อนหน้านี้

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนี้ เช่น

  • ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยโลก (GMSL) เพิ่มขึ้น 3.66มม. ต่อปีซึ่งเร็วกว่าอัตราระหว่างปี พ.ศ. 2444 – 2534 ถึง 2.5 เท่า หากเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ระดับน้ำจะเพิ่มประมาณ 30  –  60 ซม. เมื่อถึงปี พ.ศ. 2643 ถึงแม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และอุณหภูมิถูกจำกัดไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสก็ตาม ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 2 เมตรในปี พ.ศ. 2643  ถ้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (5)
  • การละลายของแผ่นน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์รุนแรงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงอย่างน้อย 350ปีที่ผ่านมา และในเวลานี้การละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกและกรีนแลนด์รวมกัน มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากกว่า 700% (6)
  • ถ้าภาวะโลกร้อนยังคงเพิ่มขึ้นถึง 2องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มหาสมุทรอาร์กติกในช่วงปลายฤดูร้อน คือเดือนกันยายนอาจเกิดปรากฏการณ์ไม่มีน้ำแข็งยาวนานถึง 1 ปี ในทุก ๆ 3 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบหลายปีเท่านั้น (6)
  • พื้นที่ต่ำริมชายฝั่งและเกาะต่างๆ รวมถึงมหานครใหญ่ๆ ของโลก จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการละลายของน้ำแข็ง หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในระดับสูง เกาะที่อยู่ในระดับต่ำบางแห่งจะไม่จะสามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไปภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 (6)
  • ไฟ

นอกเหนือจากรายงานของ IPCC แล้วยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ออกมาหลังจากนั้นและให้แง่มุมที่แตกต่างเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เช่น การศึกษาโดยคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ในสหรัฐ พบว่าไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้ภัยพิบัติไฟป่าในอนาคตยิ่งแย่ลง โดยเผยแพร่งานวิจัยนี้ในวารสาร Environmental Research Letters

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนี้ เช่น

  • จากการศึกษาชั้นตะกอนดินในทะเลสาบสวอมพ์ ในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี พบความเกี่ยวข้องกับแนวโน้มสภาพภูมิอากาศ โดยช่วงเวลาที่อบอุ่นมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาของการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น ไฟป่าเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงยุคกลางที่สภาพอากาศผิดปกติ (Medieval Climate Anomaly) อันเป็นช่วงเวลาของความร้อนที่ผิดปกติและภัยแล้งยาวนานระหว่างปี พ.ศ. 1496 – 1793ดังนั้นงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่ายิ่งโลกร้อนขึ้น ไฟป่าจะยิ่งเกิดถี่มากขึ้น (7)
  • มนุษย์

ดัชนีความหิวโหยทั่วโลกประจำปี พ.ศ. 2562 (Global Hunger Index Report 2019) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการลดความหิวโหยทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาปริมาณน้ำฝนในการเพาะปลูกอาหาร และพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อย

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานนี้ เช่น

  • การผลิตอาหารมีแนวโน้มที่จะลดลงตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดการขาดแคลนน้ำ ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น และภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นเช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม ในเวลานี้ผลผลิตของพืชอาหารหลัก เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลีก็ลดลงเนื่องจากการระบาดของโรคพืชและแหล่งน้ำที่ลดลงอย่างรุนแรง (8)
  • ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุคิดเป็น 80%ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2559 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารในระดับวิกฤต กระทบต่อผู้คน 124 ล้านคนใน 51 ประเทศ (8)
  • การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีระดับต่ำและในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ไม่เพียงแต่มีประชากรจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตอาหารที่สูง เช่นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50%ของการผลิตข้าวทั่วประเทศของเวียดนาม การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตใด ๆ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงด้านอาหารและเศรษฐกิจของประเทศ (8)
ที่มา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม