ร้อนๆ อากาศร้อนเช่นนี้ใช่ว่ามีเพียงแค่มนุษย์จะรู้สึก และสำนึกถึงผลกระทบที่ตนเองก่อขึ้นมา แต่ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่อยู่ในระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า “โลก” เช่นเดียวกัน
เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยรายงานการสำรวจที่น่าตกใจที่ระบุว่า สายพันธุ์พืชราว 1 ใน 5 หรือ 21% ของสายพันธุ์พืชทั้งหมดในโลก ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยถาวร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจและประเมินความเสี่ยงของสายพันธุ์พืชทั่วโลก ทั้งยังเป็นการจุดประกายการศึกษาสายพันธุ์พืชที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเหล่านี้เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชต่อไปในอนาคต
ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์รู้จักและจัดทำทะเบียนสายพันธุ์พืชรวมแล้ว 390,900 สายพันธุ์
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว พบว่าพืชราว 31% ของกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีปัจจัยแห่งความเสี่ยงมาจากการรุกรานของการทำการเกษตรของมนุษย์ ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการทำให้พืชจำนวนมากสูญหายไปจากพื้นโลก
ปัจจัยแห่งความเสี่ยงต่อมา ได้แก่ การตัดไม้ และการนำพืชมาปลูกรวมกันในพื้นที่หนึ่ง การทำการก่อสร้าง เป็นภัยคุกคามที่มีความรุนแรงตามมา
ส่วนภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวร้ายที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืช คิดเป็น 3.96% ของความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าตัวเลขนี้มาจากการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งเชื่อว่าถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อาจจะพบดัชนีชี้วัดของความเสี่ยงจากภัยโลกร้อนที่ส่งผลต่อสายพันธุ์พืชรุนแรงขึ้นก็เป็นได้
ภัยคุกคามสายพันธุ์พืชยังครอบคลุมไปถึงการรุกรานของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นนอกเหนือจากมนุษย์ การก่อสร้างเขื่อน และไฟป่า
เรียกว่าพืชที่ให้คุณประโยชน์นานัปการต่อมนุษย์และระบบนิเวศบนโลก กำลังเผชิญภัยมากมาย และส่วนใหญ่ก็เป็นภัยที่เกิดจากเงื้อมมือมนุษย์
เคธี่ วิลลิส ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว ให้ความเห็นว่า ความมั่นคงแห่งสายพันธุ์พืชในระบบนิเวศของโลกกำลังสั่นคลอน แม้มนุษย์จะรู้ดีว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิตพื้นฐานที่ให้คุณประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ ให้ทั้งอาหาร พลังงาน และการควบคุมสภาพอากาศ แต่มนุษย์จะรู้สึกหรือไม่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเสาหลักแห่งความอยู่ดีกินดีของตนเอง
เธอกล่าวต่อไปว่า ถ้าเราไม่เคยศึกษาข้อมูลเหล่านี้มาก่อน และลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น มนุษย์จะเผชิญความเสี่ยงอย่างรุนแรง ความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ก็จะหดหายลงไปเรื่อยๆ
สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิวเป็นหนึ่งในแหล่งรวบรวมสายพันธุ์พืชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนั้นในรายงานของสวนฯ ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างการเพิ่มแหล่งเพาะปลูกพืช กับปริมาณพื้นที่อนุรักษ์ในการรักษาสายพันธุ์พืชทั่วโลก ปัจจุบันมีพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของมนุษย์มากถึง 1,771 แห่ง แต่มีการเพิ่มเขตพื้นที่อนุรักษ์น้อยมาก
มนุษย์ยังรู้จักพืชพันธุ์ไม่หมดทุกสายพันธุ์บนโลกใบนี้ และมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมเรื่อยๆ เช่นในปี 2558 มีการค้นพบพืชที่มีระบบท่อน้ำเลี้ยง 2,034 สายพันธุ์ รวมทั้งพืชกินแมลงชนิดใหม่ พืชกลุ่มมีหัวคล้ายหัวหอมพันธุ์ใหม่ และกล้วยไม้รองเท้านารีขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์กันมาก่อน โดยพื้นที่ที่พบพืชสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้มากที่สุดอยู่ในออสเตรเลีย บราซิล และจีน
มนุษย์รู้จักการนำพืชมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ในจำนวนนี้พืช 17,810 สายพันธุ์มีคุณค่าทางยา 5,538 สายพันธุ์นำมาใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหาร 3,649 สายพันธุ์นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และ 1,621 สายพันธุ์นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
แต่ในอดีตที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ ทำให้พืชสูญพันธุ์ไปแล้วมากเท่าไหร่ ทุกวันนี้มนุษย์ยังเร่งกระบวนการทำลายสายพันธุ์พืชด้วยการเร่งปัจจัยความรุนแรงของภาวะโลกร้อนเข้าไปอีก
แม้นักวิทยาศาสตร์ของสาวฯ ที่ศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์พืช ยังยอมรับว่าในปัจจุบันการวัดความเสี่ยงและผลกระทบของปัจจัยโลกร้อนต่อพืชนั้นทำได้ยาก ต้องรอจนถึงปี 2573 ถึงจะรู้ว่าผลกระทบจากโลกร้อนทำอะไรกับสายพันธุ์พืชไปบ้างแล้ว
จนถึงเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์ได้แต่หวังว่าการให้การศึกษาเพื่อเตรียมการ เตรียมตัวผู้คนเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ จากมนุษย์ต่อการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์พืช จะได้รับการยอมรับและเผยแพร่กระจายไปอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์
ทั้งยังยอมรับว่าการรักษาพันธุ์พืชนั้นทำได้ยาก เพราะพืชที่มีอายุยืนและเป็นเสาหลักของป่านั้น จะผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมาเมื่อมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พืชตกอยู่ในความเสี่ยงต่อปัจจัยรุมเร้าที่รุนแรงขึ้นทุกวินาที
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ http://www.komchadluek.net