facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list

บทความ

 

ราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) Trend ใหม่ ที่องค์กรต้องรู้!

14 พ.ย. 67

                   
                              จากกระแสการเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก นำไปสู่ Trend ในการประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ซึ่งเป็นแรงกดดันที่องค์กรต้องปรับตัว โดยในอนาคตกลไกใหม่ที่มีความสำคัญมากอีกหนึ่งกลไกที่หลาย ๆ องค์กรต้องเริ่มเรียนรู้ นั่นคือ การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing)

                              การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) คือ การกำหนดราคาหรือมูลค่าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรโดยองค์กรเอง ให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน (Monetary Value) ในหน่วยของมูลค่าทางการเงินต่อหน่วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น USD/tCO2eq หรือ บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

                              เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ อย่าง การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร ใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการกำหนดราคาคาร์บอนจะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินและจัดการต้นทุนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง วางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยในการตัดสินใจ (ลงทุน จัดซื้อจัดจ้าง การวิจัยและพัฒนา และการดำเนินการ) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ตลอดจนสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรนั้นมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์ขององค์กรที่แตกต่างกันไป เช่น

                              การกำหนดราคาเงา (Shadow Price) เป็นการกำหนดราคาคาร์บอนจากการตั้งสมมุติฐานในการประเมินการลงทุนและโครงการต่าง ๆ ภายในองค์กร วิธีนี้จะช่วยให้องค์กรเข้าใจบริบท สถานการณ์ และต้นทุนการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจมากขึ้น รวมถึงสามารถวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ได้ง่าย เพื่อช่วยเตรียมการรองรับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร

                              การกำหนดราคาจากการคำนวณย้อนกลับ (Implicit Carbon Pricing) เป็นการกำหนดราคาจากงบลงทุนที่องค์กรใช้ในโครงการหรือกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น งบประมาณที่ใช้ในการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) เงินที่ใช้ในการลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน หรือโครงการปลูกป่า โดยคำนวณว่าในอดีตองค์กรมีการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนเงินเท่าใด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณเท่าใด และนำราคาดังกล่าวมาใช้อ้างอิงเป็นการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร วิธีนี้ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดได้อย่างแม่นยำ

                              การเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร (Internal Carbon Fee) เป็นการกำหนดราคาจากการนำแนวคิดของราคาคาร์บอนภายนอก เช่น ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ไปใช้ภายในองค์กร เพียงแต่เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนเพื่อใช้ภายในองค์กรเท่านั้น โดยมีการจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นตัวเงินที่เรียกเก็บจากหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ต่าง ๆ โดยองค์กรสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจัดตั้งเป็นกองทุนและใช้หมุนเวียนในการสนับสนุนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร

                              ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร (Internal Trading System) เป็นรูปแบบการนำราคาคาร์บอนไปใช้ภายในองค์กรลักษณะเดียวกับระบบ Cap-and-Trade เพียงแต่เป็นการกำหนดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อใช้ภายในองค์กรเท่านั้น เหมาะกับระดับ Corporate โดยการตั้งเป้าหมายที่ Corporate ต้องการลด และกำหนดเพดานในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่หน่วยงานภายในองค์กร วิธีนี้ช่วยให้องค์กรสามารถติดตามความก้าวหน้าและปรับปรุงกลยุทธ์ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ องค์กรสามารถสร้างตลาดภายในสำหรับการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรได้ ระบบนี้ช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กรแข่งขันกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดกลไกตลาดคาร์บอนภายในองค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

                              การกำหนดราคาคาร์บอนแบบผสมผสาน (Hybrid Approach) เป็นการผสมผสานระหว่างการกำหนดราคาคาร์บอนราคาเงาและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการและสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้