วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและสร้างโอกาสทางการตลาด ภายใต้แนวคิด “BEDO-BCG Society Forum เศรษฐกิจชีวภาพ สร้างสรรค์ สร้างอนาคต” จัดโดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนนำความหลากหลายทางชีวภาพมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเครือข่าย BEDO ตามแนวคิด BCG โดยมี นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ BEDO ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน ทั้งนี้มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก ทส. ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ BEDO และประธานกรรมการ TGO พร้อมด้วย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกว่า 60 ชุมชน เข้าร่วมงาน ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายจตุพรฯ ปกท.ทส. กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ นำทรัพยากรชีวภาพที่มีในชุมชนร่วมกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอด สร้างเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นฐานรากสำคัญของความมั่นคงของประเทศ ทั้งยังได้มีการยกระดับแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของไทย โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูล Thaibiodiversity.org เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านทรัพยากรชีวภาพ ที่มีการตรวจสอบความถูกต้องโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานทั้งจากภาคการศึกษา ผู้ประกอบการ และชุมชน กว่า 400,000 ครั้งต่อปี นับเป็นโอกาสในการเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพของชุมชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนไปสู่ประชาชน สอดรับกับการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Model : Bio - Circular - Green Economy ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ภายในงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับการดำเนินงานในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของ TGO ได้แก่ การชดเชยคาร์บอน การซื้อขาย Carbon Credit ผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ภาคป่าไม้ ซึ่งได้รับความสนใจจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา เป็นอย่างมาก