facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list

NDC (Nationally Determined Contribution)

 

NDC (Nationally Determined Contribution)

เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ NDC (Nationally Determined Contribution)

          การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดภายหลังปี ค.ศ. 2020 หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) เกิดขึ้นจากข้อเสนอเดอร์บัน (Durban Platform 2011) ซึ่งเป็นมติจากการประชุม COP17 ที่ ประเทศแอฟริกาใต้ ส่งผลให้มีการจัดทำกรอบความตกลงฉบับใหม่มาใช้ ต่อมาในที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 การมีส่วนร่วมของแต่ละภาคี เป็นไปตามที่ประเทศกำหนด โดยข้อ 4 ของความตกลงปารีสกำหนดให้แต่ละภาคีต้องจัดทำแจ้งและจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งทุกๆ 5 ปี ซึ่งจะแสดงถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นไปได้สูงสุด ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี (Common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances)

          ความตกลงปารีสได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2oC และมุ่งมั่นความพยายามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5oC จากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่ละประเทศมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงที่สุดของโลก (Global peak) โดยเร็วที่สุด และหลังจากนั้นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว (Deep cut) ให้ถึงระดับการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพยายามที่จะขจัดความยากจน

           ความตกลงปารีส จะมีผลบังคับใช้และผูกพันทางกฎหมายหลังจากภาคีอนุสัญญาฯ อย่างน้อยที่สุด 55 ภาคีซึ่งมีความรับผิดชอบรวมกันต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยที่สุดประมาณร้อยละ 55 ของจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก ได้มอบสัตยาบันสาร (Instrument of ratification) สารการยอมรับ (Instrument of acceptance) สารการให้ความเห็นชอบ (Instrument of approval) หรือภาคยานุวัติสาร (Instrument of accession) โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มีประเทศที่ให้สัตยาบันสารครบตามที่กำหนดข้างต้น ทำให้ความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จากข้อมูล ณ กรกฎาคมพ.ศ. 2561 มีภาคีจำนวน 179 ภาคี ได้เสนอให้สัตยาบันสารต่อความตกลงปารีสแล้ว และมีการยื่นข้อเสนอ NDC แล้ว จำนวน 165 ฉบับ

          สำหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contribution : INDC) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 โดยกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติ และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยื่นข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 (INDC) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้เสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ภายหลังความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้ ให้ถือว่าภาคีที่ส่ง INDC แล้วเปลี่ยนสถานะเป็น NDC ตามมติ 1/CP.21 Para 22 นอกจากนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศเป้าหมายดังกล่าวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 70 ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน (Ratification) ต่อความตกลงปารีส (Paris agreement) ซึ่งถือเป็นหลักหมายสำคัญในการร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและของโลกอีกด้ว

นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2
Thailand's 2nd Updated Nationally Determined Contribution (NDC)
               การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (2 nd Updated NDC) เป็นการยกระดับ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง (LT-LEDS (Revised Version)) โดยยังโครงร่างตามเอกสาร NDC ฉบับเดิม ซึ่งการปรับปรุงเนื้อหาหลักเป็นเรื่องการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 - 25 จากกรณีปกติ เป็นร้อยละ 30 - 40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยและ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ น่โยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกตามคู่มือการ จัดทำบัญขีก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ ปี ค.ศ. 2006 ของ IPCC ผลสำเร็จจากการดำเนินการ NAMA ความสำคัญของ ภาค ป่าไม้ในการบรรลุเป้าหมาย NDC ของประเทศความสำเร็จของการมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมปูน การสร้างความ ตระหนักรู้ผ่านการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) และความต้องการได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาและประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการทำการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) เพื่อเพิ่มผลิตภาพของผลผลิตและปล่อยคาร์บอนต่ำ



ที่มา : https://unfccc.int/sites/default/files/NDC/2022-11/Thailand%202nd%20Updated%20NDC.pdf



ที่มา: https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2022/11/05-NDC.pdf

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

หน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

หน่วยงานภาคพลังงาน

- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

หน่วยงานภาคการขนส่ง

- สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

หน่วยงานภาคของเสีย

- กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

- กรุงเทพมหานคร (กทม.)

- กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

หน่วยงานภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU)

- กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 

หน่วยงานภาคการเกษตร

- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

- กรมวิชาการเกษตร (กวก.)

- กรมการข้าว (กข.)

- กรมปศุสัตว์ (กปศ.)

คู่มือการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก (ภาคพลังงาน)

คู่มือแนวทางการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจก จากมาตราการภาคพลังงาน ประกอบไปด้วย

  1. โครงสร้างและแนวทางการประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับมาตรการ/นโยบาย
  2. หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกมาตรการ/นโยบายที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
  3. การกำหนดกรณีฐานและการพัฒนาวิธีคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับมาตรการ/นโยบาย
  4. วิธีคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการพลังงานทดแทน
  5. วิธีคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
  6. วิธีคำนวณค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้อง