วิกฤตปัญหา Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด มีการเปิดเผยว่า กรกฏาคม 2021 คือเดือนกรกฎาคม ที่มีอากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยวัดจากอุณหภูมิผืนดินและผืนมหาสมุทร นับตั้งแต่ มีการเก็บสถิติมา ตลอด 142 ปี
ปัญหา สภาพอากาศแปรปรวน ดูจะเริ่มเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในแง่ของสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และส่งผลกระทบในทุกๆทวีปทั่วโลก โดยล่าสุด หน่วยงานวิทยาศาสตร์จากรัฐบาลกลางสหรัฐ ได้เปิดเผยรายงานตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ โดยระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยทั้งผืนดินและผืนมหาสมุทร ในช่วงเดือน กรกฏาคม 2021 ที่ผ่านมา สูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในทุกๆเดือนกรกฎาคมของทุกๆปี ในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15.8 องศาสเซลเซียส (60.4 องศาฟาเรนไฮต์ )
โดยใน กรกฏาคม 2021 มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ของเดือนกรกฏาคมปีอื่นๆ ซึ่งเป็นหน้าร้อนของหลายๆประเทศ ถึง 0.93 องศาสเซลเซียส (1.68 องศาฟาเรนไฮต์) นั่นถือว่าเป็นสัญญาณในเชิงลบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะมันได้ส่งผลต่อสภาพอากาศโดยรวมของโลก และซ้ำเติมปัญหา Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มากขึ้นไปด้วย
ทั้งนี้ สถิติอุณหภูมิของเดือนกรกฏาคม 2021 ถือว่าทำลายสถิติเดิมซึ่งเคยมีมา และเคยเกิดขึ้นในกรกฏาคม 2016,2019 และ 2020 โดยที่ผ่านมา มีการเก็บสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก มาแล้ว เป็นเวลายาวนาน 142 ปี
โดยผู้เชี่ยวชาญ ลงความเห็นเชื่อว่า สาเหตุที่โลกร้อนขึ้น เป็นผลกระทบมาจาก ปัญหา Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แน่นอน "ในกรณีแบบนี้ นี่คือจุดที่โลกกำลังเดินไปสู่จุดที่เลวร้าย จุดแรก การทำสถิติใหม่แบบนี้มันสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องสภาพอากาศกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่มาก " ริค สปินราด ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ศึกษามหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็น
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ระบุว่า ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของอุณหภูมิในเดือนกรกฎาคมได้สร้างความกังวล และการทำลายสถิติครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเพราะเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังแสดงผลให้โลกได้เห็น
ในขณะเดียวกัน เรื่องอากาศร้อนจะทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปอีก โดยรายงานล่าสุดของคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ออกคำเตือนว่า วิกฤตสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับ ‘สีแดง’ แล้ว
ภายในปี 2030 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดย การศึกษาของ IPCC ระบุด้วยว่า ผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาในไม่ช้านี้ ได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเลวร้ายขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ รายงานจาก UN ยังได้ระบุว่า โลกมีโอกาสที่จะมีระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่า 2 เมตรภายในปลายศตวรรษที่ 21 และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคนที่อาศัยตามชายฝั่งทะเลในประเทศต่าง ๆ ส่วนพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนืออาจจะเผชิญกับฤดูร้อนที่ไม่มีน้ำแข็งเลยอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในเวลา 29 ปีข้างหน้านี้