การที่ภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศมากเกินไป ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับนั้น ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก และอาจจะถึงขั้นที่มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตบนโลกได้ในที่สุด หากไม่มีการแก้ไข
สัญญาณเตือนภัยในเรื่องนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 15-20 ปีก่อน โดยมีการสังเกตเห็นการลดลงของขนาดแผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกทั้งสอง จากนั้นได้มีการติดตามผล ศึกษา วิจัย ตลอดจนค้นคว้าหาวิธีการแก้ไขและป้องกันอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยนักวิทยาศาสตร์ของประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การเกษตรคือทางรอดของประเทศไทยนั้น ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดผลกระทบกับการเกษตรของประเทศไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่
ภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเริ่มต้นและความยาวนานของแต่ละฤดูกาล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูฝน) มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากต่อการทำงานในไร่ นา และสวนของเกษตรกร เพราะเกษตรกรไทยส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก รวมถึงการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำประเภทต่างๆ และการส่งน้ำของระบบชลประทานไปยังพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน
การเพาะปลูก อากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลต่อการเพาะปลูกพืช (ไม่ว่าเป็นพืชผัก พืชไร่ หรือพืชสวน) ซึ่งหมายถึงว่าช่วงเวลาต่างๆ ของการเจริญเติบโตของพืชจะมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่การงอก ติดดอก ออกผล ไปจนถึงระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนจำนวนผลผลิต รวมถึงชนิดของพืชที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในประเทศของเรา
การเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของไก่หรือสุกรอาจจะมีการเลี้ยงในระบบปิดบ้าง แต่ถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการเลี้ยงสัตว์ในไร่นาของเกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งอากาศร้อนขึ้น จะส่งผลอย่างแน่นอนในลักษณะเดียวกับที่เกิดในการเพาะปลูกพืช
สัตว์น้ำ อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อการจับสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในน้ำจืดและน้ำกร่อยด้วย ปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้นจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเกิดความเสียหาย
ป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับป่าไม้อาจจะใช้เวลานานกว่าผลกระทบในประเด็นอื่นๆ แต่จะส่งผลยาวนานและกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภูมิอากาศและระบบชลประทานด้วย
เศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือเศรษฐศาสตร์เกษตร ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดกับผลิตผลการเกษตรทั้งทางด้านปริมาณและราคา (ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) เพื่อกำหนดเป้าหมายในการผลิตที่เหมาะสม
จากผลกระทบมากมายดังกล่าวข้างต้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ (ผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารงบประมาณวิจัย) เพื่อการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบภาวะโลกร้อนต่อการเกษตรไทย” เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ระดับประเทศ แยกย่อยเป็นโครงการวิจัยขนาดกลางและขนาดเล็กเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ วนศาสตร์ ประมง สัตวแพทยศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร เศรษฐศาสตร์เกษตร และวิศวกรรมศาสตร์ โดยในส่วนของผู้วิจัยได้แก่คณาจารย์และนักวิจัยที่อยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกัน เพื่อให้การวิจัยเสร็จสิ้นในระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก
ผลจากการวิจัยจะทำให้ได้องค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องในด้านต่างๆ และส่งผ่านสิ่งเหล่านี้ไปยังเกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อเข้าสู่ยุคของ “การเกษตรไทย 4.0” และเป็นส่วนสำคัญในการนำประเทศก้าวสู่ “THAILAND 4.0” ตามที่รัฐบาลและคนไทยทุกคนคาดหวัง
บทความโดย : รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ http://www.matichon.co.th