27 พ.ย. 67
หากประเทศไทยจะ “เปลี่ยนผ่าน” (Transition away from fossil fuel) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ระบบพลังงานแบบคาร์บอนต่ำ หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูง คือ การผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน โดยกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนจะใช้หลักการของเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานเคมีเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
1. การผลิตไฮโดรเจน: สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) หรือการแปรรูปเชื้อเพลิงฟอสซิล
2. การเก็บและขนส่งไฮโดรเจน: ไฮโดรเจนถูกเก็บในรูปของก๊าซหรือของเหลวภายใต้ความดันสูง
3. การผลิตไฟฟ้า: ไฮโดรเจนถูกป้อนเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าและน้ำ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีมติรับรองการพัฒนาระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจสำหรับโครงการ Premium T-VER สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน เพื่อใช้ภายในหรือจำหน่ายเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้า (T-VER-P-METH-01-05) ซึ่งผู้พัฒนาโครงการที่สนใจสามารถนำไปใช้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและยื่นขอขึ้นทะเบียนโครงการ Premium T-VER ได้ โดยลักษณะของกิจกรรมที่เข้าข่าย คือ เป็นโครงการที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าใหม่ (Greenfield) หรือ การปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้าเดิมเพื่อรองรับการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วม โดยมีเงื่อนไขของกิจกรรม ดังนี้
1. เป็นการทดแทนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเป็นการจำหน่ายเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้า หรือ การผลิตเพื่อใช้เอง หรือการผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปแบบ Private PPA
2. เป็นการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนในเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) หรือการใช้เชื้อเพลิงผสมก๊าซธรรมชาติและไฮโดรเจน (Co-firing)
3. ไม่มีการใช้ประโยชน์จากความร้อนทิ้งจากระบบที่ติดตั้งใหม่หรือไม่เป็นการปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้า
หรือความร้อนเดิมเพื่อสามารถใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนผ่านประเทศให้ลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและยุติการใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2050 ได้ แม้จะมีความท้าทายด้านต้นทุนและโครงสร้างพื้นฐาน แต่ด้วยการลงทุนและการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนของประเทศในอนาคต หากผู้พัฒนาโครงการสนใจจะพัฒนาโครงการ Premium T-VER สามารถศึกษาดูรายละเอียดเงื่อนไขโครงการได้ที่
https://tver.tgo.or.th/อ้างอิง
1. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
2.
https://tver.tgo.or.th