facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • [image_name]
  • [image_name]

TGO พบผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเพื่อสรุปผลการพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด

25 ต.ค. 64

          เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยนางสาวสุมน สุเมธเชิงปรัชญา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเมืองและสังคมคาร์บอนต่ำ นางเพ็ญศรี รักผักแว่น ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 (พิษณุโลก) และนางปริญญา บุญส่ง ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุโขทัย พร้อมกับเจ้าหน้าที่ เข้าพบนายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย

          จากการดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2564 พบว่า จังหวัดสุโขทัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 (ปีฐาน) เท่ากับ 1.64 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 เท่ากับ 0.51 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก 29 มาตรการ โดยแบ่งเป็นมาตรการที่สามารถดำเนินงานในระยะสั้น (ภายใน 1-2 ปี) 25 มาตรการ ระยะกลาง (ภายใน 3-5 ปี) 3 มาตรการ และระยะยาว (มากกว่า 5 ปี) 1 มาตรการ โดยจังหวัดสุโขทัยตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 23.14 เมื่อเทียบกับปีฐาน ภายในปี 2573 นอกจากนี้ จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงปี 2561-2563 พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยเป็นพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่นาข้าว ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง แต่การใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดยังคงมีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการปล่อยฯ เนื่องจากมีพื้นที่ป่าไม้ทางอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลายหอย และอำเภอคีรีมาศ

          ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ว่านอกจากจะตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสในปี 2573 แล้ว ควรตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ในช่วงระยะเวลา 2561-2580 และสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ