วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “From 350 millions tons to Zero: Where are we now and where are we going?” ภายในงานสัมมนา “Decarbonize Thailand Symposium 2022” ณ True Digital Park Grand Hall อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ ซึ่งเป็นงานที่ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับประชาชาชน รวมถึงประสบการณ์การร่วมงานกันระหว่างสตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี
ในการนี้ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO เปิดเผยว่า ในปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศไทยหลังเข้าร่วม COP26 ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะเป็น Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero GHG Emission ภายในปี 2065 โดยในปัจจุบันประเทศไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายส่งเสริมทั้งการปลูกต้นไม้ ป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร
ทั้งนี้การมุ่งไปสู่เป้าหมายเป็น Carbon Neutrality ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการสนับสนุนองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานในการวัดและประเมินผล ออกกฎหมายทั้งในเชิงส่งเสริมและจำกัดขอบเขต เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดแรงจูงใจในการลงทุนกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต่ำลงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ที่เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้เข้าร่วมโครงการ T-VER มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการ T-VER ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 เติบโต 425% เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งปี 2564 และคิดเป็นเพียง 0.3% ของก๊าซเรือนกระจกจากประเทศไทยปล่อยทั้งหมดต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในทุกปี สำหรับภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลกในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และประเมินว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.50 แสนล้านบาท ในปี 2573 ดังนั้น การจัดงานสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของไทย