วันที่ 3 ตุลาคม 2567 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ TGO และรักษาการผู้อำนวยการ TGO ร่วมเสวนาในงาน THAILAND NEXT เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย จาก “THE GREAT DISRUPTION” สู่ “THE GREAT TRANSITION” ซึ่งจัดโดย คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 (SX2024)
ในการนี้ ดร.ณัฐริกาฯ รองผู้อำนวยการ TGO และ รักษาการผู้อำนวยการ TGO นักศึกษา วปอ. 66 หมู่วัว กล่าวว่า ประเทศไทยยุ่งกับคำว่า “เปลี่ยน” แต่ปัญหาใหญ่คือคนยังไม่รู้ว่าฉันต้องทำอะไร ฉันเกี่ยวข้องยังไง
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนสองเรื่องหลัก ได้แก่ การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกัน จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง อากาศร้อนก็ร้อนจัด น้ำแล้งก็แล้งจัด และจะไม่มีวันลดน้อยถอยลงไป ซึ่งผลกระทบจะมีมากขึ้น ถี่ขึ้น และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เริ่มเห็นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี นี่คือผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง ไทยจึงต้องเปลี่ยนและปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน เนื่องจากคนท้องที่อย่างเดียวไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง ต้องมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า มีระบบคาดการณ์ภูมิศาสตร์ การวางผังเมือง และระบบการผันน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนรวม ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
การเปลี่ยนคือต้องช่วยกันทำ นำความรู้ในภาคส่วนต่างๆ มาปรับเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้าง โดยจัดระเบียบโครงสร้าง นโยบาย กฎหมาย และสร้างความรู้ความตระหนักต่อประชาชนตลอดจนภาคการศึกษา
“โลว์คาร์บอน ต้องแก้ที่สาเหตุ ไม่ใช่การแก้ที่ปลายเหตุ หากไม่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่มุ่งสู่ความยั่งยืน ก็จะไม่เกิดผล” ดร.ณัฐริกา กล่าวย้ำ
สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนทุกเพศทุกวัย หากไม่ทำอะไรอาจโดนลูกหลานขุดโครงกระดูกขึ้นมาตำหนิได้ มันไม่ใช่แค่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นเรื่องของความปลอดภัย ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการก็ไปไม่รอด
“การดำเนินงานด้านโลกร้อนไม่ใช่ทางเลือก แต่มันคือทางรอด หากไม่ทำก็ไม่รอด จึงมีข้อเสนอ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาด 2. ใช้มาตรการ Carbon Pricing กำหนดราคาคาร์บอน 3. ปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านป่าไม้ และ 4. สนับสนุนให้มีมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขายคาร์บอนเครดิต” ดร.ณัฐริกา กล่าวปิดท้าย