facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]
  • [image_name]

TGO เปิดตัว CFO Platform รองรับภาคธุรกิจไทย ที่พร้อมใจมุ่งสู่ Net Zero

20 ธ.ค. 66

                 วันที่ 20 ธันวาคม 2566 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO จัดงานเปิดตัวแพลตฟอร์มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization Platform: CFO Platform) เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ CFO Platform ที่พัฒนาขึ้นต่อสาธารณะ อันจะช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้องค์กรมีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับองค์กรเพิ่มขึ้น และใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ณ ห้องลาดพร้าว สวีท โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live Streaming องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก – องค์การมหาชน

                  ในการนี้ ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ระบบการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หรือ CFO โดย TGO นั้นจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย เป็นไปตามยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่กำหนดเป้าหมายไว้คือ แนวทางการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ทส. โดย TGO ได้พัฒนาการรายงาน CFO ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับไปสู่ การรับรอง Net Zero ในระดับองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรภาคธุรกิจ สามารถบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และต่อเนื่อง โดยการกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาในการดำเนินการได้อย่างชัดเจน อาจกล่าวได้ว่า ภาคเอกชน เป็นหนึ่งในฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญของกลไกการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ในอนาคตต่อไป

                    ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ TGO กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการจะมุ่งสู่การผลิตและการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทั้งภาคผลิตและภาคบริการของไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดังกล่าว สามารถเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนของธุรกิจคาร์บอนต่ำที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ

                  นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า TGO ได้พัฒนาระบบการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) หรือ CFO เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินปริมาณการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร นำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางลดการใช้พลังงาน และลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                 โดยปัจจุบันมีองค์กรที่มีการประเมินและผ่านการรับรองจาก TGO แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,033 องค์กร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย Net Zero ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูล CFO รายงานต่อสาธารณะ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถประเมิน CFO ได้สะดวกยิ่งขึ้น TGO จึงได้พัฒนารูปแบบการประเมินให้อยู่ในรูปแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ “CFO Platform” ขึ้น โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือประเมิน CFO ตามมาตรฐานที่กำหนดได้ถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งรองรับระบบการรับรอง Net Zero ที่ TGO ได้พัฒนาขึ้นใหม่ โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า CFO Platform นี้ จะสามารถช่วยลดภาระในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าเพื่อมุ่งสู่ Net Zero และใช้ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้แก่ผู้ประกอบการไทยต่อไป

                สำหรับภาคเอกชนในฐานะผู้ใช้บริการ “CFO Platform” ได้ให้มุมมองถึงความสำคัญ ความจำเป็นต่อการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

                 นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวว่ากระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมากและทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกันโดยเฉพาะภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ตลอดสายโซ่อุปทาน จากกฎข้อบังคับทางการค้าและมาตรการต่างๆ  ทำให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวในการเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการตั้งเป้าหมาย Net Zero ที่เร็วคือไม่น้อยกว่า 15 ถึง 35 ปี โดยมีองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งเป้าไว้ที่ปี 2050 หรือบางองค์กรตั้งเป้าอย่างท้าทายไว้ที่ปี 2030 ขณะที่ประเทศไทยกำหนดเป้าไว้ในปี 2065 อย่างไรก็ตาม ขนาดและศักยภาพของแต่ละธุรกิจมีไม่เท่ากัน  รายใหญ่อาจมีมากกว่ารายเล็ก แต่ที่สำคัญ คือ ทุกรายต้องช่วยกันทำ ช่วยสนับสนุนกัน เพราะนี่เป็นทางรอดที่ต้องไปพร้อมกันหมด ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง ดังนั้น ความพร้อมของแต่ละองค์กรในเวลานี้ ขึ้นอยู่กับกำลังและทรัพยากรที่ตนเองมีเป็นหลัก และก็มีแผนดำเนินงานแตกต่างกันไป แต่ส่วนสำคัญ คือ ต้องมุ่งเน้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของตัวเองให้ได้ก่อน หรือ ที่เรียกว่า Decarbonization ซึ่งภาคธุรกิจได้เริ่มดำเนินกันอย่างแพร่หลาย เช่น เปลี่ยนมาใช้ขนส่งคาร์บอนต่ำ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า การใช้บรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคิด ทำ ใช้ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารจัดการขยะ ตลอดจนการลงทุนในธรุกิจใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลงทุนในธรุกิจสีเขียว นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ธุรกิจตัวเองแล้ว เราก็ต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยกันปลูกป่า เพื่อดูดซับคาร์บอน ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศด้วย ตรงนี้ก็สำคัญมากเช่นกันเพื่อช่วยประเทศขับเคลื่อนสู่ Net Zero แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดที่ทุกองค์กรต้องรู้ คือ แต่ละองค์กรนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร เพื่อเป็นฐานในการตั้งเป้าหมายและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็คือวัตถุประสงค์ที่เรามาร่วมเปิดการใช้ CFO Platform กันในวันนี้

                สำหรับประเด็นที่ฝากถึงภาครัฐ ในอนาคตอันใกล้ควรผลักดันให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ COP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแสดงผลงานความสำเร็จในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สู่สายตาชาวโลกว่าคนไทยทำได้และทำได้อย่างดี บนมาตรฐานที่โลกต้องยอมรับ

                 นายนที สิทธิประศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในส่วนของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทางสถาบันฯ จะให้บริการภาคเอกชนในการเป็นหน่วยงานทวนสอบการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับองค์กร และระดับผลิตภัณฑ์ โดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมเพื่อบริการให้กับสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากปัจจุบันที่ยังมีหน่วยงานทวนสอบจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในการใช้บริการ

                นอกจากนี้ทางสถาบันฯ วางแผนในการให้บริการการทวนสอบครอบคลุมมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการทวนสอบของทาง EU สำหรับ “CFO Platform” ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นการยกระดับในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้เอกชนรายงานได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยกันคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดด้วยตนเอง โดยอาจเริ่มต้นจาก Low Technology ซึ่งค่าใช้จ่ายยังไม่สูง จากนั้นจะมีการเสริมด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต หรือการชดเชยคาร์บอน สำหรับในภาพรวมของประเทศนั้นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการปรับอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มอัตราให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น

               สำหรับการจัดงานเปิดตัว CFO Platform ครั้งนี้ เป็นการจัดงานในรูปแบบ “Carbon Neutral Event”  คือมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานจำนวน 5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่ากับปริมาณการปล่อยทั้งหมด โดย Central Group และสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนให้เกิดการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เพื่อให้งานเปิดตัว CFO Platform ในวันนี้ ได้รับการรับรองเป็น Carbon Neutral Event จาก TGO ต่อไป