facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list

บทความ

 

กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism): ทางเลือกในการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ

18 ต.ค. 67


                 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ทั้งการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งนี้ มีแนวทางแก้ไขที่สามารถทำได้หลายวิธี ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิเช่น (1) การใช้มาตรการทางการคลัง เช่น ภาษีคาร์บอน การลดหย่อนภาษีในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก (2) การใช้มาตรการทางการเงิน เช่น การให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ (3) การใช้กลไกตลาด เช่น ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การซื้อขายคาร์บอนเครดิต การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (4) การใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายการรายงานและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ค่าปรับ หรือ ค่าธรรมเนียม (5) การใช้มาตรฐานกำกับการดำเนินงาน เช่น มาตรฐานในกลุ่ม ISO 14000 family การขอการรับรองฉลากคาร์บอน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และ (6) การสนับสนุนเทคโนโลยีที่สะอาด เช่น การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แพร่หลายเรียกว่า “กลไกราคาคาร์บอน” (Carbon Pricing Mechanism) หลักการตามแนวคิดดังกล่าวคือ “การทำให้ก๊าซเรือนกระจกมีราคา” (Put the Price in Carbon) นั้นเอง

                กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการกำหนดต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน เป็นราคาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ชัดเจน ซึ่งสามารถผลักดันให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การกำหนดราคาคาร์บอนมีหลายรูปแบบที่สามารถนำมาใช้ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและเป้าหมายของแต่ละประเทศหรือองค์กร เช่น

                External Pricing หรือการกำหนดราคาโดยพิจารณาจากปัจจัยภายนอก
                - ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นการกำหนดราคาต่อหน่วยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายตามปริมาณการปล่อย หน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดราคา ข้อดีคือมีความชัดเจนและง่ายต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ แต่ต้องมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจมากเกินไป

                - ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) ระบบนี้จำกัดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) และจัดสรร (Allocation) “สิทธิ” ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือ Allowance) ให้แก่องค์กรที่อยู่ภายใต้ระบบ และอนุญาตให้มีการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Trade) ระหว่างผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาด วิธีนี้ช่วยสร้างตลาดสำหรับการซื้อขายสิทธิในการปล่อยและส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ตลอดจนตอบสนองต่อความผกผันของปัจจัยทางเศรษฐกิจได้ดีกว่านโยบายอื่น ๆ กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก (หากเทียบกับภาษี ผู้เสียภาษีจะดำเนินการเพียงเฉพาะให้เกิดการเลี่ยงภาษีได้เท่านั้น)

              - กลไกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Mechanism) เป็นกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก “ในรูปแบบของการทำโครงการ แบบภาคสมัครใจ” จึงทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นไปโดยเสรีด้วยความสมัครใจ โดยราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งนี้ สามารถคาร์บอนเครดิตไปใช้ชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดงานอีเว้นท์ และระดับบุคคล เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและรับผิดชอบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดงานอีเว้นท์ และระดับบุคคลที่ปล่อยออกมา
Internal Pricing หรือการกำหนดราคาโดยพิจารณาจากปัจจัยภายในขององค์กร

            - การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing: ICP) บริษัท/หน่วยงานเป็นผู้กำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนและการดำเนินงาน โดยการกำหนดราคาคาร์บอนภายในจะช่วยให้บริษัท/หน่วยงานสามารถประเมินต้นทุนที่แท้จริงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง เตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบต่างๆ และสร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ

             จะเห็นได้ว่า กลไกราคาคาร์บอน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการกำหนดราคาคาร์บอนมีประโยชน์หลายประการที่สามารถส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ การทำงานของกลไกในแต่ละรูปแบบนั้น มีความแตกต่าง จึงทำให้มีข้อดี-เสียที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ทุกกลไกนั้นมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ “การลดก๊าซเรือนกระจก”