facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • 01-225-728x486

ซีโร่ คาร์บอน วาระลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

01 ก.ย. 64

               การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของโลกอีกวาระหนึ่งในปัจจุบัน เช่นเดียวกับวาระการแก้ปัญหาจากการระบาดของโควิค-19 ที่ล้วนส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ วันนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ในระดับโลก ประเทศ เมือง และท้องถิ่นนั้น รวมถึงประเทศไทยก็ต่างเห็นพ้องตรงกับการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net- Zero Carbon Emissions)

               ซีโร่ คาร์บอน เป็นเป้าหมายที่ต่อยอดมาจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2558 โดยมี 196 ประเทศเข้าร่วมประชุม ข้อตกลงหลัก ๆ ของการประชุมนี้ คือ การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-industrial Era) และมีความพยายามผลักดันที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันว่า การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเป็นช่วงของอุณหภูมิที่ปลอดภัยในการป้องกันผลกระทบที่เลวร้าย นอกจากนี้ข้อตกลงของ COP 21 ยังให้การส่งเสริมแนวทางและความสามารถต่าง ๆ เพื่อจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ด้านการใช้พลังงาน ซึ่งมีการเสนอให้ทำสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์กับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยแหล่งดูดซับก๊าซต่าง ๆ นั่นหมายความว่าเมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นต้องมีค่าเท่ากับการดูดซับก๊าซเหล่านั้นโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การปลูกต้นไม้หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถกักเก็บก๊าซเหล่านี้ได้อย่างถาวร เป็นต้น

               พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนั้นด้วย โดยให้ถ้อยแถลงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยว่า ไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) โดยเฉพาะความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ การร่วมมือกันทั้งในด้านเงินทุน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การใช้รถเครื่องยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น การลดการขนส่งทางถนนเป็นการเพิ่มการขนส่งทางราง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP ของไทยให้มากขึ้น

               จากวันนั้น จนถึงวันนี้ จึงเกิดเป็น “วาระซีโร่ คาร์บอน” ซึ่งเป็นหลักชัยของเส้นทางเดินที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส รวมถึงเป้าหมายของไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ.2573 ในส่วนภาคพลังงานของไทยนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ โดยบูรณาการแผนพลังงานชาติที่มีอยู่ด้วยกัน 5 แผน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไว้เป็นแผนเดียว ภายใต้ทิศทางนโยบาย 5 ด้าน ประกอบไปด้วยนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน นโยบายลงทุนพลังงานสีเขียว ดำเนินนโยบาย 4D1E เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคพลังงาน นโยบายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065-2070 (พ.ศ.2608 – 2613) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2564 เพื่อส่งให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

               ระหว่างรอแผนพัฒนาพลังงานชาติฉบับใหม่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการและกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญของการพัฒนาภาคพลังงานของไทยให้มีความยั่งยืน ก็ได้มีการวางรากฐานการนำประเทศไทยเข้าสู่สังคมซีโร่ คาร์บอน ไว้ในหลายด้าน เริ่มจากด้านกำกับการจัดหาไฟฟ้าหมุนเวียน ให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2561-2580 โดยได้จัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามกรอบ นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของรัฐ โดยมีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 7,299 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 9,748.64 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Taiff (FiT) ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) จำนวน 1,128 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 1,878.72 เมกะวัตต์

               นอกจากนี้ยังได้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ.2564 ในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โดยมีเป้าหมายรับซื้อ 150 เมกะวัตต์จาก หนึ่ง เชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ กับ สอง เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ ตลอดจน กกพ. ยังได้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Non-Firm โดยมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์

               ด้านการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนในหมู่ประชาชน ทาง กกพ. ได้สนับสนุนแคมเปญ “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่ง เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 97(5) โดยในปี พ.ศ. 2563 เป็นโครงการรณรงค์สื่อสาร (Campaign) ให้คนไทยได้เห็นว่า ยังมีพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) พลังงานชีวมวลและชีวภาพ (Bio Energy) และพลังงานขยะ (Waste to Energy) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศน้อยมาก สามารถนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

               Clean Energy for Life มี 25 ภาคีพันธมิตรองค์กรชั้นนำของประเทศร่วมกันสร้างสรรค์เนื้อหากว่า 26 โครงการ ถักสานร้อยเรียงเรื่องราวผ่านชุดความรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด ร่วมแสดงความคิดเห็น การเชื่อมโยงเครือข่ายส่งต่อความรู้ ส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจจนเกิดเป็นรูปธรรมด้านพลังงานสะอาด ตลอดจนสร้างเครือข่ายใหม่จากพลังงานหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการนำ อินฟลูเอนเซอร์จากหลากหลายวงการเข้ามาช่วยเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
 
               ในส่วนการประกอบกิจการพลังงาน ทาง กกพ. ได้พัฒนาระบบการกำกับให้ผู้ประกอบการพลังงานในประเทศใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัด รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกพลังงานที่ขับเคลื่อน 3D ได้แก่ แนวโน้มการลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอน (Decarbonization) แนวโน้มการ ปฎิรูปสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) และแนวโน้มการกระจายศูนย์พลังงาน (Decentralization) โดยศึกษาประสิทธิภาพของกิจการไฟฟ้า ตลอดจนให้คำแนะนำและส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท โดยนำข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษาภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox : ERC Sandbox) รวมทั้งผลการศึกษาและวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(4) มาปรับใช้

               นี่คืองานบางส่วนที่ทาง กกพ. ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน โดยทาง กกพ. เป็นหนึ่งในกลไกภาครัฐในการสนับสนุนแผนพัฒนาพลังงานชาติของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Zero Carbon)

ที่มา : มติชนออนไลน์