facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list

บทความ

 

ทำนาวิถีใหม่ ผ่าน Premium T-VER ลดน้ำ ลดปุ๋ยเคมี ลดก๊าซเรือนกระจก ได้คาร์บอนเครดิต

07 ต.ค. 67


                 ข้าว มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด นอกจากนี้ กระบวนการปลูกมีการขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า รวมทั้งการปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งมีค่า GWP มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 265 เท่า (IPCC Fifth Assessment (AR5) 2014)

                TGO จึงได้พัฒนาโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง หรือ Premium T-VER ขึ้น เพื่อเป็นกลไกลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่ง ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเกษตร มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยความสมัครใจและสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ไปซื้อขายได้ ซึ่งเป็นการยกระดับจากโครงการ Standard T-VER ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

                โดยเกษตรกร หรือผู้พัฒนาโครงการ สามารถเข้าร่วมดำเนินโครงการ Premium T-VER ประเภทโครงการการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร และสามารถใช้ระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER-P-METH-13-08) สำหรับกิจกรรมการจัดการพื้นที่ปลูกข้าวที่ดี (Enhanced Good Practices in Paddy Rice Field) ซึ่งโครงการจะต้องดำเนินการที่เข้าข่ายกิจกรรมที่มีลักษณะอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ การปรับปรุงการจัดการน้ำ เช่น การลดระยะเวลาในการขังน้ำ การปล่อยให้น้ำแห้งเป็นระยะ การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การลดเวลาการขังน้ำก่อนฤดูปลูกข้าว และ การลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตรา สูตร ความถี่และเวลาที่เหมาะสม (ลดปริมาณการใส่ลง) การใช้สารยับยั้งการเปลี่ยนรูปของปุ๋ยไนโตรเจน (สารยับยั้งไนตริฟิเคชัน และเอ็นไซม์ยูรีเอส) โดยการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ขอรับรองเป็นคาร์บอนเครดิต จะต้องนำการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เกิดจากการใช้เครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์เพิ่มเติมจากการจัดการที่มีอยู่เดิม ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งมวลชีวภาพที่ถูกเผา ที่เกิดจากการเผาตอซัง และฟางข้าวในพื้นที่โครงการ มาร่วมคำนวณด้วยเช่นกัน

เงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ คือ

  1. พื้นที่โครงการสามารถรวมหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน
  2. เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเหมาะสมกับเขตการใช้ที่ดิน
  3. ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่ม
  4. กรณีดำเนินการจัดการน้ำในพื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่ปลูกข้าวโครงการต้องเป็นพื้นที่นาชลประทาน หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำใช้เอง และเกษตรต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สามารถควบคุมการนำน้ำเข้าและระบายน้ำได้

 

ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการ Premium T-VER ---> https://ghgreduction.tgo.or.th/th/premium-t-ver.html

ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับกิจกรรมการจัดการพื้นที่ปลูกข้าวที่ดี หรือ T-VER-P-METH-13-08 ---> https://ghgreduction.tgo.or.th/th/premium-t-ver-methodology/methodology/reduction-absorption-and-removal-of-greenhouse-gases-from-the-forestry-and-agriculture-sectors.html

ที่มา/แหล่งข้อมูล

  • https://www.thai-german-cooperation.info/th/thai-rice-nama-nationally-appropriate-mitigation-action/