วันที่ 5 สิงหาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษใน “การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ Thailand Climate Action Conference (TCAC)” ภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity)” ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2565 โดยเป็นการประชุมที่จำลองรูปแบบ COP มาจัดในระดับประเทศ ครั้งแรกของโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักรู้ และตื่นตัวให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ร่วมกัน ทั้งนี้มี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมด้วย เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ตลอดจนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เข้าร่วมงาน ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวยืนยันเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 มุ่งใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นกลไกหลักในการสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนา ครอบคลุม 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับตัวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า “การจัดประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณให้กับทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และพี่น้องประชาชน รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ อีกทั้งยืนยันว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำแผนงานมาบูรณาการร่วมกัน และกระจายลงไปสู่กลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนลงไปถึงระดับภูมิภาค จนถึงระดับชุมชน สู่การปฏิบัติได้จริง โดยผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะถูกนำไปประกาศต่อในที่ประชุม COP27 ณ ประเทศอียิปต์ ในช่วงปลายปี ต่อไป”
ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่ง TGO จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ คาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการผลิตและบริโภค ภายในธีม “Low Carbon Lifestyle TGO Cafe” พร้อมทั้งร่วมให้คำปรึกษาและแนะนำแก่บุคคล/องค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการและบริการต่างๆ ของ TGO เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) และหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CAA) ผ่านทาง “Climate Care Clinic”