เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส (High-level signature ceremony for the Paris Agreement) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้มีอำนาจลงนามในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส โดยมีผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 175 ประเทศ เข้าร่วมลงนาม เพื่อแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส และแสดงเจตจำนงทางการเมืองในระดับนโยบายของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้จัดพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีสในครั้งนี้ และได้กล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่ม 77 และจีน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ความตกลงปารีส เป็นผลจากความพยายามร่วมกันของภาคี ที่ได้ทำงานอย่างสร้างสรรค์และประนีประนอม และความตั้งใจในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2.ความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนปี ค.ศ. 2020 จะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงต่อการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส นอกจากนั้น จำเป็นต้องจัดการกับความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างผลรวมของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของโลกภายในปี ค.ศ. 2020 และเส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมที่จะสอดคล้องกับการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และการมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
3.ความสนใจในขณะนี้ ควรมุ่งทั้งเรื่องการมีผลบังคับใช้ของความตกลงปารีส และการดำเนินการตามภารกิจหลักๆ ให้สำเร็จเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนปี ค.ศ. 2020 รวมถึงการดำเนินงานด้านการปรับตัว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
4.ประเทศพัฒนาแล้วควรดำรงบทบาทการเป็นผู้นำด้านการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเชิงปริมาณที่ลดได้จริง ให้ครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจภายใต้ข้อเสนอการลดก๊าซเรือนกระจก (pledges) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ควรตอบสนองต่อความจำเป็นระดับชาติ รวมทั้งส่งเสริมการเป็นเจ้าของกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพจะต้องเป็นไปโดยการมีส่วนร่วมตามความต้องการของประเทศ การเสริมสร้างการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วจะนำไปสู่การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและยกระดับการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนา
5.กลุ่ม 77 และ จีน ตั้งมั่นต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกลุ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ซึ่งกัดกร่อนการพัฒนา และการดำเนินการตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งพวกเราต้องการจะบรรลุสู่นั้นอย่างต่อเนื่อง
6.กลุ่ม 77 และ จีน ได้ดำเนินการตามมาตรการซึ่งเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มขึ้น และเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามศักยภาพที่เรามี จึงจำเป็นยิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องยกระดับการดำเนินงานและสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ
7.การปรับกระบวนทัศน์สู่แนวทางการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำจำเป็นต้องมีการเงินที่เพียงพอ คาดหวังได้และยั่งยืน กลไกการดำเนินงาน (Means of Implementation) เป็นเสาหลักสำคัญในการดำเนินงานภายใต้ความตกลง พวกเรารู้สึกยินดีสำหรับการอนุมัติโครงการระยะแรกภายใต้กองทุน Green Climate Fund. พวกเราเห็นว่าการหารือในสาระสำคัญ (และข้อตัดสินใจ) ในการเพิ่มการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นผลลัพธ์สำคัญในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 ณ ราชอาณาจักรโมร็อกโก
8.ในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่ม 77 และจีน มีความตั้งใจและมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเน้นย้ำความตั้งใจรับผิดชอบต่อชนรุ่นปัจจุบันและชนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ http://www.mnre.go.th