facebook
icon telephoneCall Center02-141-9790
ค้นหา
icon switch languageภาษา
ขนาดตัวอักษร
การแสดงผล
icon line icon youtube icon tiktok
banner_list
  • 878

อวสานโลกสวย เชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวการสำคัญทำโลกร้อนแล้งหนัก

17 ม.ค. 59

เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ที่ให้พลังงานกับเครื่องจักรกลของมนุษย์มานานนับร้อยปีกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภูมิอากาศของโลก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลคือ สภาวะเรือนกระจกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกมาและเข้าไปปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme-UNEP) ได้รายงานเกี่ยวกับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศว่า ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 270-290 ส่วนในล้านส่วน คริสต์ศตวรรษที่ 20 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยเพิ่มขึ้นในยุคอุตสาหกรรม 345-350 ส่วนในล้านส่วน มาถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์และคาดว่า อีก 15 ปี ในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-3 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 3 องศาฯ ผลกระทบรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วทุกพื้นที่จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซ Co2 หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีตัวการสำคัญก็คือเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง

คณะกรรมการระดับระหว่างรัฐบาลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศขององค์การสหประชาชาติ หรือ IPCC (Intergovernment Panel on Climate Change) ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ราว 2,500 คนจากกว่า 150 ประเทศ และนักวิชาการกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักอุตสาหกรรม ตัวแทนของรัฐบาลได้รายงานสรุปผลการศึกษาออกมาเมื่อปี 1996 ว่ามนุษย์คือผู้ทำให้โลกร้อนขึ้น โดยไม่มีการควบคุมแต่อย่างใดทั้งสิ้น และยืนยันว่าปี ค.ศ. 1996 และ ค.ศ. 1997 ที่ผ่านมา โลกร้อนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปีเริ่มต้นอุตสาหกรรม ค.ศ.1860 หรือประมาณ 7,000 ล้านตันต่อปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งตัวเลขนี้จะทำให้บรรยากาศโลกร้อนขึ้นอีกหลายองศาฯ ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 30% ในช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมา เทียบกับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 500,000 ปี ก่อนจากการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการขุดเจาะลึกลงไปในน้ำแข็งขั้วโลก เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศที่ถูกกักเก็บอยู่ในชั้นของน้ำแข็งเก่าในอดีต พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอยู่ในค่าปกติ จนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม บรรยากาศของโลกเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยมีการนำเอาเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน มาให้พลังงานสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นและทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลจึงสูงขึ้นเนื่องจากการละลายที่เร็วขึ้นของหิมะและน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือและใต้ รวมถึงธารน้ำแข็งที่หดหายไปเป็นจำนวนมากในทุกพื้นที่เขตเหนือ

ก๊าซเรือนกระจกนั้นประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ไอน้ำฯ ถ้าพิจารณาในแง่ของปริมาณการปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะพบว่า ในชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่ของโลกจะประกอบไปด้วยไนโตรเจน 78.08% ออกซิเจน 20.95% อาร์กอน 0.93% ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยมากสำหรับคาร์บอนไดออกไซด์ (.038%) มีเทน (.0001745%) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (.0000000005%) เห็นได้อย่างชัดเจนว่าก๊าซเรือนกระจกมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับก๊าซในชั้นบรรยากาศทั้งหมด แต่ก๊าซเรือนกระจกกลับมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาอุณหภูมิของโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงปริมาณแม้แต่เพียงเล็กน้อยของก๊าซเรือนกระจก กลับส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภาวะเรือนกระจกที่เกิดขึ้น

ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดพบว่า มีการพูดถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด เพราะเทียบแล้วมีสัดส่วนของการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศสูงที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดที่มนุษย์ปล่อยออกมา โดยสรุปแล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลต่อภาวะเรือนกระจกสูงที่สุด เนื่องจากมีปริมาณมาก ตามมาด้วยมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งถึงแม้จะมีผลมากกว่าแต่มีปริมาณที่น้อยกว่ามากในชั้นบรรยากาศ การลดลงของป่าไม้ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดิน การสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น ถนน เขื่อน เป็นต้น ทำให้มีการถางป่าเพื่อทำการก่อสร้าง ไฟไหม้ป่าและพายุ ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติ การกำหนดแนวเขต พื้นที่ป่า กระทำไม่ชัดเจน หรือ ไม่กระทำเลย ในหลายๆ พื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบเขตพื้นที่ใดเป็นเขตป่าไม้ จึงมีการบุกรุกเข้าพื้นที่ป่าไม้

การเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศรวมถึงอุณหภูมิของโลก ส่งผลกระทบต่อโลกในหลายๆ ด้าน แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์ในแถบบริเวณขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง น้ำกัดเซาะชายฝั่งและท่วมบ้านเรือนทุกทวีปที่ตั้งอยู่ในเขตชายฝั่ง ทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิตเพราะระบบนิเวศเสื่อมลง

เกิดอุทกภัยขึ้นทั่วโลกเนื่องจากการละลายของน้ำแข็งบนยอดเขาและที่ต่างๆ

อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นทำให้เกิดพายุใหญ่พัดกระหน่ำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำอุ่นที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล

เกิดพายุเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น ไซโคลนที่มีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยมีจำนวนของพายุเพิ่มขึ้นสองเท่าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา พายุใหญ่ระดับ 4-5 ที่เคยเกิดขึ้นจะใหญ่มากขึ้นจนถึงระดับ 6 ด้วยความเร็วลมที่จุดศูนย์กลางกว่า 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เกิดความแห้งแล้งขึ้นทั่วโลก พื้นที่เขตร้อนชื้นที่เคยมีฝนตกสม่ำเสมอจะมีปริมาณฝนลดลงและเกิดไฟป่ามากขึ้น

มหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในฤดูร้อนของปี ค.ศ.2050

สิ่งมีชีวิตทั่วโลกมากกว่าหนึ่งล้านสปีชีส์สูญพันธุ์ภายใน ค.ศ.2050

เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ.2030

ป่าอเมซอนจะหดหาย สูญเสียพื้นที่ของป่าที่เคยให้ออกซิเจนกับโลก เกิดไฟป่าซ้ำซาก ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการโลกร้อนหลายร้อยตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ละลายจนหมดสิ้น

ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในฝั่งยุโรปจะแห้งเหือดในฤดูร้อน

ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ เกิดสภาวะอากาศวิปริตแปรปรวน

พายุเฮอร์ริเคนจะทวีความรุนแรงเป็นระดับ 6 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงลมพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเกือบจะทั่วทุกทวีป

หนทางในการแก้ไขสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

1. ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม หากเป็นไปได้ ใช้วิธีเปิดหน้าต่าง ซึ่งบางช่วงที่อากาศดีๆ สามารถทำได้ เช่น หลังฝนตก หรือช่วงอากาศเย็น เป็นการลดค่าไฟ และลดความร้อน เนื่องจากหลักการทำความเย็นนั้นคือ การถ่ายเทความร้อนออก ดังนั้นเวลาเราใช้แอร์ จะเกิดปริมาณความร้อนบริเวณหลังเครื่องระบายความร้อน

2. เลือกใช้บริการระบบขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ประจำทาง เนื่องจากพาหนะแต่ละคันจะเกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิงซึ่งจะเกิดความร้อน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากลดปริมาณการใช้รถยนต์ ก็จะช่วยลดจำนวนการเผาไหม้บนท้องถนนในแต่ละวันลดลงได้

3. ปรับอุณหภูมิของระบบปรับอากาศหรือแอร์ให้สูงขึ้นอีกนิดเพื่อลดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากก๊าซและถ่านหิน การใช้งานเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ของมนุษย์เป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ความร้อนปริมาณมากต่อสภาพอากาศภายนอก

4. ช่วยกันปลูกต้นไม้จำนวนมาก ไม่ตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากต้นไม้จะคายความชุ่มชื้นและช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ของภาวะเรือนกระจก

5. ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาแปรเป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนการเผาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในบ้านเรือน

6. ไม่รับภาชนะที่เป็นโฟม หรือถุงพลาสติก รวมถึงพยายามนำกลับมาใช้อีก เนื่องจากพลาสติกย่อยสลายยาก ต้องใช้ปริมาณความร้อนมหาศาลในการย่อยสลาย ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาเพื่อย่อยสลายโฟมและพลาสติกก่อให้เกิดความร้อนกับโลก

7. ไม่สนับสนุนกิจการใดๆ ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกและปล่อยก๊าซ Co2 จำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ สนับสนุนกิจการที่มีการคำนึงรักษาสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่มีการจัดการที่ดีและคำนึงถึงสภาวะภูมิอากาศ กิจการหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการลดการปล่อย Co2

บทความโดย : อาคม รวมสุวรรณ


ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ: http://www.thairath.co.th