สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบในแทบทุกด้าน แม้กระทั่งอุตสาหกรรมไวน์ก็หนีไม่พ้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์กรองุ่นและไวน์นานาชาติ( International Organization of Vine and Wine) ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพิ่งประกาศว่า ปีนี้ผลผลิตไวน์จะมียอดตกเหลือราวๆ 3,000 ล้านขวด เทียบกับปีที่แล้ว ยอดผลิตไวน์ลดลงราว 8 เปอร์เซ็นต์ และถ้าย้อนไปถึงปี 2504 ผลผลิตไวน์ปีนี้ถือว่าตกต่ำที่สุด เป็นเพราะสภาวะภูมิอากาศในแหล่งผลิตไวน์ชั้นนำของโลก ได้แก่ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส เลวร้ายอย่างสุดๆ พื้นที่เพาะปลูกองุ่นพันธุ์ดีๆ เช่น บอร์โดซ์ในฝรั่งเศส รีโอคาของสเปน และเคียนติในอิตาลี เจอสภาวะแห้งแล้งอย่างหนักหน่วง
สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบในแทบทุกด้าน แม้กระทั่งอุตสาหกรรมไวน์ก็หนีไม่พ้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์กรองุ่นและไวน์นานาชาติ( International Organization of Vine and Wine) ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพิ่งประกาศว่า ปีนี้ผลผลิตไวน์จะมียอดตกเหลือราวๆ 3,000 ล้านขวด เทียบกับปีที่แล้ว ยอดผลิตไวน์ลดลงราว 8 เปอร์เซ็นต์ และถ้าย้อนไปถึงปี 2504 ผลผลิตไวน์ปีนี้ถือว่าตกต่ำที่สุด เป็นเพราะสภาวะภูมิอากาศในแหล่งผลิตไวน์ชั้นนำของโลก ได้แก่ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส เลวร้ายอย่างสุดๆ พื้นที่เพาะปลูกองุ่นพันธุ์ดีๆ เช่น บอร์โดซ์ในฝรั่งเศส รีโอคาของสเปน และเคียนติในอิตาลี เจอสภาวะแห้งแล้งอย่างหนักหน่วง
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์สัมภาษณ์ชาวไร่องุ่นอิตาเลียนในตำบลบาโรโล เมืองลามอร์รา แคว้นปิเอมอนเต ได้คำตอบว่า หน้าร้อนปีนี้ สุดโหดจริงๆ ปกติแล้วแคว้นปิเอมอนเตมีอากาศดีเพราะอยู่ไม่ห่างจากทะเลมากนัก ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ ช่วยทำให้องุ่นพันธุ์เนบบิโอโล เป็นพันธุ์พื้นเมืองมีรสชาติใช้ทำไวน์บาโรโล อันเป็นไวน์ชั้นดี อุณหภูมิเมื่อเดือนสิงหาคมทะลุถึง 40 องศาเซลเซียส ความร้อนทำให้องุ่นสุกเร็วขึ้น มีน้ำตาลสูงและทำปฏิกิริยาจนมีปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป องุ่นเนบบิโอโล ชาวไร่อิตาเลียนให้ความหมายว่า องุ่นแห่งสายหมอกในอดีตทุกเดือนพฤศจิกายน ชาวไร่ที่นั่นใส่ถุงมือ เสื้อคลุมหนา เดินย่ำเกล็ดหิมะเก็บเกี่ยวพวงองุ่นอย่างมีความสุข แต่ปัจจุบัน ชาวบาโรโลใส่เสื้อบางๆ ที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อ เก็บองุ่นในเดือนกันยายน เพราะอากาศร้อนจัด จนต้นองุ่นเหี่ยวเฉา ใบเล็กลีบแห้ง ถ้าไม่ชิงเก็บก่อน แทนที่จะขายองุ่นรสชาติกลมกล่อมขายราคาดีๆ ก็จะกลายเป็นองุ่นเน่าเสียรสชาติไร้ราคา ชาวไร่องุ่นไม่เพียงเผชิญกับภาวะภัยแล้ง ในช่วงที่มีฝนตกก็ตกหนักมากจนชะดิน ตามไหล่เขาซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกองุ่น
ผลจากสภาวะอากาศแปรปรวนอย่างนี้ทำให้ชาวไร่องุ่นของอิตาลีเริ่มคิดถึงอนาคตข้างหน้าว่าจะต้องปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร ถ้าอากาศร้อนจัดอย่างนี้ ปลูกองุ่นไม่ได้ผลงอกงามทำกำไรเหมือนอดีตอย่างแน่นอน แล้วจะปลูกพืชอะไรดี ชาวไร่บางคนคิดถึงการปลูกกล้วยหอม หรือไม่สับปะรดกันแล้ว เมื่ออนาคตอุตสาหกรรมไวน์ของอิตาลีมีความไม่แน่นอน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิตาลีไม่น้อยเลย เนื่องจากไวน์อิตาลีส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปี 2559 ผลิตได้ 48.8 ล้านเฮกโตลิตร (1 เฮกโตลิตรเท่ากับ 100 ลิตร) รองลงมาฝรั่งเศส 41.9 ล้านเฮกโตลิตร ตามด้วยสเปน อันดับสาม 37.8 ล้านเฮกโตลิตร ว่ากันว่า ไวน์อิตาลีผลิตออกมาในรูปของฉลากยี่ห้อต่างๆ ราว 4 หมื่นฉลาก ดื่มวันละ 1 ฉลาก ใช้เวลา 100 ปี จึงจะดื่มครบ
ในผลการศึกษาจัดทำโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับองค์การนาซาของสหรัฐ พบว่า ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ 20 ฤดูการเก็บเกี่ยวองุ่นในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เลื่อนมาเร็วขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับศตวรรษที่ 16 ส่วนผลการศึกษาของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ นำโดย “ฮันนาห์ ลี” ตีพิมพ์ในสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อแหล่งผลิตไวน์ใหญ่ๆ ของโลก โดย “ลี” ใช้รูปแบบ จำลองสภาวะภูมิอากาศ 17 รูปแบบ กับพื้นที่เพาะปลูกองุ่นใหญ่ๆ 9 แห่ง
การทำนายอนาคตใน 50 ปีข้างหน้า ใช้แนววิเคราะห์ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แห่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่ระบุว่าในช่วงเวลานั้นอุณหภูมิผิวโลกอาจเพิ่มเฉลี่ย 2.5 องศาเซลเซียส และ 4.7 องศาเซลเซียส ซึ่งแนววิเคราะห์ของไอพีซีซีพยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าชาวโลกไม่ร่วมมือกันหยุดยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ภาวะโลกร้อนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจถึงขั้นเลวร้ายสุดๆ คือ อุณหภูมิผิวโลกทะลุถึง 4.7 องศาเซลเซียส โดยผลของไอพีซีซีดังกล่าวนำไปสู่ข้อตกลงว่าด้วยการลดโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ล่าสุด มีข่าวจากสหประชาชาติระบุข้อตกลงปารีสนั้น แม้ว่าทุกประเทศ (ยกเว้นสหรัฐที่ถอนตัวเพราะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ แกไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน และกล่าวหาว่า จีนเป็นคนกุเรื่อง) จะร่วมมือกันทำจนปัญหาบรรเทาเบาบางลงแล้วก็ตาม แต่อุณหภูมิผิวโลกจะขยับสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส ในอีกราวๆ สิบปีข้างหน้า โดยรายงานของยูเอ็นเตือนว่า มหันตภัยโลกร้อนกำลังคุกคาม แต่ยังเกิดช่องว่างระหว่างรัฐบาลทั่วโลกและบริษัทโรงงานอุตสาหกรรม ทำอย่างไรทั้งสองฝ่ายจะหันมาร่วมมือแก้ปัญหาให้มากขึ้น เร็วขึ้น ทั้งนี้ยูเอ็นพยายามกระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งระดมสรรพกำลังในการอุดช่องว่างต่างๆ เช่น ในสัปดาห์หน้าจะหารือถึงการควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศกำลังพัฒนา เพราะลดต้นทุนการผลิต แต่สร้างปัญหาการปล่อยก๊าซพิษและชักชวนนานาประเทศร่วมลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
ย้อนกลับมาพูดถึงผลจากการจำลองรูปแบบของ “ลี” พบว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของทวีปยุโรปเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบ กล่าวคือ ผลผลิตองุ่นในเขตบอร์โดซ์ของฝรั่งเศส แคว้นทัสคานีของอิตาลี ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จะลดลง 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแหล่งปลูกองุ่นในออสเตรเลีย มีผลผลิตลดลง 74% รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ลดลง 70% แอฟริกาใต้ ลดลง 55% และชิลี ลดลง 4% โดย “ลี” อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ของยุโรปไม่สามารถปลูกองุ่นได้อีกต่อไป แต่การเพาะปลูกทำได้ยากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทำให้การลงทุนสูงกว่าเดิม เช่น ต้องเพิ่มระบบการชลประทาน
ในทางกลับกัน ระยะ 30 ปีข้างหน้า อาจจะมีพื้นที่ใหม่ๆ ของโลกที่เหมาะแก่การปลูกไร่องุ่นสำหรับ อุตสาหกรรมไวน์ เช่น ในประเทศอังกฤษ แถวๆ อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตนของสหรัฐ หรือหุบเขาสูงในภาคกลางของจีน
คราวนี้แหละ ชาวจีนผงาดเป็นทั้งนักดื่มไวน์และผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ที่สุดในโลก
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ: https://www.matichonweekly.com