ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน สหรัฐอเมริกา จัดทำแผนที่ 3 มิติที่แสดงถึงชั้นน้ำแข็งต่างยุคที่ปกคลุมเกาะกรีนแลนด์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจด้วยสัญญาณเรดาร์ด้วยเครื่องบินและข้อมูลจากแท่งน้ำแข็งที่ได้จากการขุดเจาะลึกลงไปในชั้นน้ำแข็ง
แท่งน้ำแข็งที่ได้จากการขุดเจาะนั้นช่วยให้ทีมวิจัยสามารถกำหนดอายุของน้ำแข็งแต่ละชั้นได้อย่างแน่ชัด โดยน้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะกรีนแลนด์มีอายุราว 130,000 ปี ส่วนข้อมูลการตรวจสอบด้วยเรดาร์นั้นช่วยให้สามารถกำหนดความหนาของน้ำแข็งในแต่ละยุคได้และช่วยให้ตรวจพบชั้นน้ำแข็งเก่าแก่ที่ถูกปกปิดอยู่ด้านใต้ของพื้นผิวน้ำแข็งใหม่ๆ ได้อีกด้วย
ทีมวิจัยแบ่งแผนที่ออกเป็น 3 ยุค ประกอบด้วยแผนที่น้ำแข็งในยุคโฮโลซีน (ตั้งแต่ 11,700 ปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) ยุคไอซ์เอจ (ตั้งแต่ 11,700 ปีก่อนขึ้นไปจนถึง 115,000 ปีก่อนหน้านี้) แลสุดท้ายคือยุคอีเมียน (จาก 115,000 ปีย้อนหลังไปจนถึง 130,000 ปีที่ผ่านมา)
ทีมวิจัยพบว่า จากแผนที่ที่ได้น้ำแข็งในยุคอีเมียนกระจุกตัวอยู่บริเวณตอนกลางและทางเหนือของเกาะกรีนแลนด์มากกว่าที่เคยคาดคิดกัน ทั้งนี้ทีมวิจัยให้ความสนใจน้ำแข็งในยุคอีเมียนเป็นพิเศษเพราะข้อมูลแผ่นน้ำแข็งใน ยุคดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแผ่นน้ำแข็งตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในยุคนั้นใกล้เคียงกับสภาวะโลกร้อนในยุคปัจจุบัน
ยุคอีเมียนเป็นยุคที่เกิดภาวะโลกร้อนครั้งหลังสุดก่อนหน้ายุคปัจจุบัน อุณหภูมิร้อนใกล้เคียงกับทุกวันนี้มาก ทั้งนี้ระหว่างช่วงเวลานั้นกรีนแลนด์ยังคงมีน้ำแข็งอยู่ส่วนหนึ่ง หลังจากยุคอีเมียนโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งยาวนานซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์วิวัฒนาการขึ้น
โจ แมคเกรเกอร์ หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าในยุคอีเมียน แต่หากเราสามารถเข้าใจได้ว่ายุคอีเมียนมีสภาพเป็นไปอย่างไร เราก็น่าจะเข้าใจสภาวะบรรยากาศทุกวันนี้ว่าจะเป็นไปอย่างไรได้เช่นเดียวกัน
ที่มาของบทความและรูปภาพประกอบ: http://www.matichon.co.th